โรคเก๊าท์และภาวะกรดยูริคในเลือดสูง

 

โรคเก๊าท์และภาวะกรดยูริคในเลือดสูง

                

หลายท่านสงสัยกันมากว่าโรคเก๊าท์คืออะไร ความจริงโรคนี้พบบ่อยพอสมควร เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการที่มีผลึกเกลือยูเรตไปตกตะกอนสะสมที่ข้อ ซึ่งการตกตะกอนนั้นมักเป็นผลจากการที่มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงต่อเนื่องนานนั่นเอง ดังนั้นโรคเก๊าท์จึงมีความสัมพันธ์กับระดับกรดยูริคในเลือด โดยพบว่าถ้ายิ่งสูง โอกาสที่จะเป็นโรคเก๊าท์ก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ค่ากรดยูริคในเลือดเท่าไรจึงจะถือว่าสูง โดยทั่วไปถ้ามีค่าเกิน 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเริ่มสูงแล้ว  เหตุที่ใช้ค่านี้เนื่องจากเป็นค่าที่กรดยูริคมีการอิ่มตัวและตกตะกอนได้ง่าย สำหรับในประชากรทั่วไปจะมีกรดยูริคในเลือดสูงโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.3-40 แล้วแต่ประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ อายุที่ศึกษา และเกณฑ์ระดับกรดยูริคในเลือดสูงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า ผู้ที่มีกรดยูริคในเลือดสูงจะเป็นโรคเก๊าท์ทุกคน

 

แล้วโรคเก๊าท์เกิดได้อย่างไร เมื่อกรดยูริคในเลือดที่สูงสะสมที่ข้อเป็นเวลานานพอสมควร โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 20-40 ปี จากนั้นก็จะมีการอักเสบเกิดขึ้นที่ข้อได้

 

ลักษณะอาการเป็นอย่างไร อาการมักเป็นครั้งแรกในอายุเฉลี่ยระหว่าง 40-60 ปี พบบ่อยในเพศชาย แต่หลังอายุ 60 ปีแล้ว เพศหญิงมีโอกาสจะเป็นโรคนี้มากขึ้น ข้อมักมีอักเสบแบบข้อเดียวเป็นส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 85-90 พบอักเสบหลายข้อได้ร้อยละ 3-14 โดยข้ออักเสบข้อแรกมักเป็นส่วนล่างของร่างกาย เช่น ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้ออื่นๆจะพบรองลงมา ได้แก่ ข้อกลางเท้า ข้อนิ้วเท้า ข้อส้นเท้า ข้อเข่า และข้อมือ เป็นต้น ตำแหน่งข้อที่อยู่ส่วนปลายของร่างกาย จะพบมีการอักเสบได้บ่อยเนื่องจากมีบริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิต่ำกว่าส่วนอื่น ซึ่งอุณหภูมิที่ต่ำจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผลึกเกลือยูเรตเกิดการตกตะกอนได้ง่ายขึ้น โรคนี้จะมีข้ออักเสบที่รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่งทำให้ไม่สามารถเดินหรือทำงานได้ตามปกติ อาการมักเป็นช่วงกลางคืน เนื่องจากผลึกชนิดนี้มักชอบอากาศเย็น ทำให้มีการตกตะกอนที่ข้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมีการอักเสบช่วงดึกระหว่างนอน ทำให้ผู้ป่วยต้องตื่นขึ้นกลางดึกหรือใกล้สว่าง จะมีอาการปวดข้อก่อน 2-3 ชั่วโมงจากนั้นข้อจะบวม แดง ร้อน ตามมาในเวลาไม่นาน บางรายมีการอักเสบมาก หรือเป็นข้อใหญ่ อาจมีไข้ตามมาได้ ส่วนใหญ่ระยะเวลาที่มีการอักเสบจะเป็นอยู่ 2-3 วัน อาจถึง 1 สัปดาห์ จากนั้นผู้ป่วยก็จะสบายดี เคลื่อนไหวข้อได้ปกติ โดยทั่วไปแล้วอาการปวดและบวมสามารถหายได้เอง แม้ไม่ต้องรับการรักษา แต่ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานมาก ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับยาต้านการอักเสบเพื่อให้การอักเสบทุเลาลง

 

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง จะมีโอกาสเกิดการกำเริบใหม่สูงขึ้น จะมีการกำเริบเป็นขึ้นซ้ำๆกันขึ้นอีก ถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากปีละ 1-2 ครั้ง เป็นปีละหลายครั้ง โดยครั้งหลังๆ ระยะเวลาที่ข้ออักเสบจะนานขึ้น จากที่อักเสบข้อเดียวก็จะมีการอักเสบพร้อมๆกัน 2-3 ข้อขึ้นไปจนถึงหลายข้อพร้อมกัน ในที่สุดก็จะมีข้ออักเสบเรื้อรัง เกิดการสะสมของผลึกเกลือยูเรตเกาะอยู่บริเวณข้อมากขึ้นเรื่อยๆจนสามารถเห็นได้ จุดที่พบบ่อยคือ บริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเข่า ข้อศอก และใบหูก็พบได้ ลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนสีขาวออกเหลือง ถ้าก้อนโตมากอาจแตกออกได้ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา ระยะนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต เนื่องจากกรดยูริคที่สูงจะไปตกตะกอนที่เนื้อไต หรือทำให้เกิดนิ่วของระบบทางเดินปัสสาวะได้

 

เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว จะต้องระวังอะไรบ้างที่ทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้โรคเก๊าท์มีการอักเสบนานขึ้น หรือกระตุ้นให้โรคกำเริบ ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การดื่มสุรา การที่ร่างกายมีการติดเชื้อเกิดขึ้น การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อ หรือกระทั่งการใช้ยาบางชนิดที่มีผลทำให้ระดับยูริคในเลือดมีการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ขณะที่ข้อมีการอักเสบอยู่ควรหลีกเลี่ยงการบีบนวด หรือประคบบริเวณข้อ เพราะจะทำให้มีการอักเสบมากขึ้นได้ สำหรับผู้ป่วยบางคนที่กินอาหารประเภทที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก ยอดผัก แล้วมีข้ออักเสบเกิดขึ้น ก็ควรเลี่ยงอาหารเหล่านี้

 

 มีคนถามว่าการควบคุมอาหารในผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรทำอย่างไร มีอาหารมีหลายชนิดที่ทำให้กรดยูริคสูงขึ้น เช่น เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก ยอดผัก ผักมีหัวต่างๆ เมื่อกินในปริมาณปกติ ระดับยูริคในเลือดจะสูงขึ้นประมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับที่ร่างกายสร้างขึ้นได้ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้กินอาหารกลุ่มนี้แล้วไม่มีข้ออักเสบเกิดขึ้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องจำกัดอาหารมากมายนัก เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์มักมีโรคร่วมหลายโรค เช่น เบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง หรือภาวะอ้วนร่วมด้วย ซึ่งมักได้รับคำแนะนำให้จำกัดอาหารหลายชนิดจากภาวะดังกล่าวอยู่แล้ว ทำให้มีความยากลำบากในการเลือกกินอาหาร และโดยเฉพาะผู้สูงอายุอาจเกิดปัญหาขาดสารอาหารได้ ขณะเดียวกันเมื่อได้รับการรักษาโรคเก๊าท์อย่างถูกต้อง ได้รับยาลดระดับกรดยูริคในเลือด จะสามารถทำให้ระดับกรดยูริคอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการได้ เพียงแต่อย่ากินอาหารกลุ่มดังกล่าวในปริมาณที่มากเกินไป เฉพาะในรายที่กินอาหารกลุ่มนี้แล้วมีการอักเสบหรือการกำเริบของโรคก็ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว

           

จะรักษาอย่างไร

การรักษาทั่วไป คือ การงดหรือการหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยที่กินอาหารบางชนิดแล้วมีการกำเริบของโรคก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว ควรงดการบีบ นวด ประคบ บริเวณข้อที่มีการอักเสบ เพราะอาจทำให้ข้ออักเสบนานหรือรุนแรงขึ้นได้ ให้พักการใช้ข้อประมาณ 2-3 วันในช่วงที่มีการอักเสบมาก หลังจากนั้นให้เริ่มขยับข้อ เคลื่อนไหว เพื่อลดการติดยึดของข้อ

 

การรักษาจำเพาะขณะที่มีการอักเสบของข้อจำเป็นต้องได้รับยาลดการอักเสบซึ่งแพทย์จะพิจารณาประเมินผู้ป่วยถึงความเสี่ยงของการใช้ยากลุ่มนี้ตามความเหมาะสม เนื่องจากยามีผลข้างเคียงต่อร่างกายหลายระบบ และผู้ป่วยที่มีอายุและโรคที่แตกแตกต่างกัน การใช้ยาก็จะแตกต่างกันตามไปด้วย ส่วนใหญ่ให้ระยะเวลาสั้นๆ โดยทั่วไปไม่เกิน 7 วันก็สามารถจะหยุดยาได้    โรคนี้เมื่อหายแล้วก็มีโอกาสกำเริบอีกได้ เนื่องจากวันเวลาที่ผ่านไปกรดยูริคที่อยู่ในกระแสเลือดจะมีการตกตะกอนสะสมตามข้อและเนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้มีโอกาสกำเริบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในรายที่มีการกำเริบบ่อย จะมีการพิจารณาให้ยาป้องกันการกำเริบอักเสบของข้อ โดยมีการให้ยาโคลชิซิน สำหรับป้องกันข้ออักเสบ ร่วมกับการให้ยาลดกรดยูริคในเลือดซึ่งยากลุ่มนี้มีความสำคัญ เนื่องจากยาสามารถไปละลายผลึกเกลือยูเรตที่สะสมตามข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้อาการผู้ป่วยค่อยๆดีขึ้นและหายจากโรคเก๊าท์ได้ในที่สุด แต่การกินยาต้องกินติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาหลายปี ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจระดับกรดยูริคสม่ำเสมอว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่ โดยทั่วไปจะให้ค่าอยู่ต่ำกว่า 5-6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การใช้ยากลุ่มนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาอย่างเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ที่สำคัญจะไม่เริ่มยาลดกรดยูริคหรือปรับยาลดกรดยูริคในขณะที่ข้อมีการอักเสบอยู่ เพราะจะทำให้ข้อมีการอักเสบรุนแรงขึ้นหรือนานขึ้นได้ 

 

 อ.นพ. สมบูรณ์ อินทลาภาพร  สาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

 ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล