ตะคริว

ตะคริว (Muscle cramps)

 

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวิไล  คุปต์นิรัติศัยกุล

                                     ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ตะคริวเป็นการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดขึ้นนานต่อเนื่องเป็นวินาทีถึงนาที และก่อให้เกิดอาการปวดอย่างมาก เนื่องจากแรงตึงตัวที่สูงมากในกล้ามเนื้อจะกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกอย่างรุนแรง ซึ่งมีกลไกการเกิดคือ เซลล์ประสาทสั่งการทำงานมากผิดปกติ มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาด้วยความถี่ที่เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง มักพบอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือพริ้วนำมาก่อนการเกิดเป็นตะคริว 

 

ประเภทของตะคริว

อาจแบ่งการเกิดตะคริวได้หลายประเภทตามสภาวะที่เกิดร่วม ดังนี้

  1. ตะคริวชนิดธรรมดา (Ordinary cramp) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดตอนกลางคืนและเกิดขึ้นเองขณะพัก พบได้ร้อยละ 19-95 โดยเพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย 1.5 เท่า และหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไปถึง 6.3 เท่า ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดตะคริวได้บ่อยกว่าวัยอื่นๆ และพบเป็นกรรมพันธุ์ มักพบที่กล้ามเนื้อน่องและกล้ามเนื้อมัดเล็กๆในเท้า ต้นเหตุมากจากระบบประสาท ปัจจัยที่มีผลคือการใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ซ้ำในลักษณะเดิม และปริมาณการหดตัวของกล้ามเนื้อมากครั้ง เช่น นักเปียโนเกิดตะคริวของกล้ามเนื้อมือและแขน นักว่ายน้ำเกิดตะคริวน่องได้ง่าย เป็นต้น
  2. ตะคริวที่เกิดร่วมกับโรคระบบประสาทอื่นๆ (Cramp associated with lower motor neuron disease) เช่น โรคไขสันหลัง, โรคปลายประสาทอักเสบ หรือโรคเส้นประสาทถูกกดเบียด ตะคริวประเภทนี้มักพบว่ามีกล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
  3. ตะคริวที่เกิดหลังการล้างไต พบตะคริวได้ง่ายในผู้ป่วยหลังล้างไต มีรายงานว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยที่ทำการล้างไต เกิดตะคริวอย่างน้อย 1 ครั้งใน 6 สัปดาห์ สาเหตุน่าจะเป็นจากภาวะการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของเกลือแร่ในร่างกาย
  4. ตะคริวที่เกิดขึ้นในคนที่ทำงานหนักในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง ทำให้มีเหงื่อออกมากและกินน้ำทดแทนการเสียเหงื่อ จะเกิดตะคริวที่มือและกล้ามเนื้อแขนขามัดใหญ่ๆ สาเหตุน่าจะเกิดจากภาวะขาดเกลือแร่และน้ำ และภาวะเกลือโซเดียมต่ำ
  5. ตะคริวที่เกิดในผู้ที่มีความผิดปกติของสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นต้น
  6. ตะคริวที่เกิดในผู้ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาหัวใจ ยาลดไขมันบางประเภท และ ยาต้านพิษโลหะหนักกลุ่ม Penicillamine  เป็นต้น

 

พยาธิสรีรวิทยา 

ตะคริวส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการทำงานที่มากเกินไปของระบบประสาทส่วนปลาย หรือระบบประสาทส่วนกลางมากกว่าเกิดที่ตัวกล้ามเนื้อเอง ตะคริวอาจเกิดขึ้นได้จากการหดตัวอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อ และหายไปโดยการเหยียดกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ทำให้คิดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการทำงานที่มากเกินไปของเซลล์ประสาทในไขสันหลัง และการเหยียดกล้ามเนื้อมีผลต่อตัวรับความรู้สึกที่อยู่ในใยกล้ามเนื้อ และส่งสัญญาณไปยับยั้งทำงานของเซลล์ในไขสันหลัง

 

การวินิจฉัย 

ใช้การซักประวัติและตรวจร่างกาย ถ้าจำเป็น อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการบ้างดังนี้

  1. ประวัติการเริ่มต้นการเกิดตะคริว เช่นมีอาการขณะพัก หรือเกิดหลังจากออกกำลังกายนานๆ หรือเกิดขณะทำงานในที่อากาศร้อนๆ เป็นต้น
  2. อาการร่วม เช่นถ้ามีเสียงแหบ เหนื่อยง่ายร่วมกับภาวะทนความเย็นไม่ได้ดี ให้คิดถึงภาวะธัยรอยด์ต่ำ หรือในการผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลต่ำ มีอาการเหงื่อออกและใจสั่น เป็นต้น
  3. ประวัติการใช้ยาต่าง ๆ อันอาจเป็นสาเหตุให้เกิดตะคริวได้ง่าย เช่น ยาหัวใจ หรือยาลดไขมันบางประเภท เป็นต้น
  4. การตรวจร่างกาย เช่น ถ้าให้ผู้ป่วยลุกนั่งแล้วมีหน้ามืดจากความดันโลหิตลดลง เป็นอาการแสดงของการขาดเกลือ ในผู้ป่วยที่มีอาการตะคริวร่วมกับกล้ามเนื้อลีบชัดเจน และตรวจพบมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เป็นอาการแสดงของโรคระบบประสาทสั่งการบริเวณไขสันหลัง
  5. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การเจาะเลือดดูระดับเกลือแร่ในเลือดเช่น โซเดียม โปตัสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม น้ำตาล ในรายที่สงสัยภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานผิดปกติ ให้เจาะเลือดดูหน้าที่ต่อมธัยรอยด์ หรือส่งตรวจด้วยเครื่องไฟฟ้าวินิจฉัยเพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทส่วนปลาย เป็นต้น

 

การรักษาตะคริว

            วิธีรักษาตะคริวที่ดีที่สุดคือการเหยียดกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ อย่างนิ่มนวล ซึ่งจะมีผลยับยั้งการทำงานของเซลล์ประสาทสั่งการในไขสันหลัง บางรายงานยังพบว่าการหดตัวของกล้ามเนื้อมัดตรงข้ามกับมัดที่เป็นตะคริว สามารถรักษาตะคริวได้ผลดีกว่าการเหยียดกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ โดยเชื่อว่าการหดตัวของกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง จะมีผลห้ามการทำงานของกล้ามเนื้อมัดตรงข้ามได้ ในขณะเกิดตะคริวในกล้ามเนื้อ ให้พยายามเหยียดกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ หลังจากนั้นให้ประคบแผ่นเย็นและนวดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นเบา ๆ จะช่วยลดอาการปวดได้ดี

 

            เนื่องจากตำแหน่งที่เกิดตะคริวมักเป็นบริเวณกล้ามเนื้อน่อง ดังนั้นการบริหารเหยียดกล้ามเนื้ออาจกระทำได้ดังแสดงในรูป โดยยืนในท่ามือยันกำแพง ขาหนึ่งอยู่หน้า ขาอีกข้างหนึ่งอยู่หลัง ในขณะบริหารให้งอขาที่อยู่ด้านหน้า โดยขาหลังเหยียดตรง ไม่งอเข่าและไม่ยกเท้าขึ้น ผู้ทำจะรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อน่อง ให้ทำค้างไว้นับ 1-20 และพักโดยการเหยียดขาที่อยู่หน้า และทำซ้ำโดยงอขาหน้าซ้ำอีก ประมาณ 20-30 ครั้ง/รอบ วันละ 2-3 รอบ

 

การป้องกันตะคริว

ส่วนการป้องกันที่ได้ผลดีนั้นมี 2 วิธีคือ การบริหารเหยียดกล้ามเนื้อ โดยแนะนำให้เหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวบ่อยๆ ด้วยความแรงปานกลาง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกตึงๆ ในกล้ามเนื้อ ข้อดีของการบริหารกล้ามเนื้อ คือ สะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกวิธีคือการใช้ยา ได้แก่ ยาควินิน ในขนาด 200-300 มก.ต่อวัน รับประทานก่อนนอน จะช่วยควบคุมตะคริวที่เกิดตอนกลางคืนได้ กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ ลดการตื่นตัวของเซลล์ประสาทและช่วยเพิ่มระยะพักตัวของกล้ามเนื้อ ยาจะถูกทำลายที่ตับ พิษของยาได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ หูหนวก ตาพร่าจนถึงตาบอดสนิทได้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะเกร็ดเลือดต่ำ อย่างไรก็ตามควรเริ่มด้วยขนาดน้อยๆ เพื่อเลี่ยงผลข้างเคียงและเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยไตวายและผู้ป่วยโรคตับ ส่วนตะคริวที่เกิดในช่วงกลางวันนั้น แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มยากันชักหรือ Carbamazepine ซึ่งจะให้ผลดีกว่า

 

สรุป

            ตะคริวเป็นปัญหาที่พบได้ในผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นเหตุให้มีอาการปวด เกร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งมีสาเหตุได้หลายประการ การรักษาต้องพิจารณาสาเหตุร่วมด้วย อย่างไรก็ตามควรแนะนำการบริหารเหยียดกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก ทำได้ง่าย และช่วยลดอาการปวดภายหลังกล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรงได้