ผู้สูงอายุกับไข้หวัดใหญ่

ผู้สูงอายุกับไข้หวัดใหญ่

 

ผศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ

สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย  ภาควิชาอายุรศาสตร์

 

 

ไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างฉับพลันที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุคือ เชื้อไวรัสที่เรียกว่า Influenza virus

ไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันง่ายมาก โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก เชื้อโรคจะมาจากละอองน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อกันโดยการหายใจ การสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อเช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ หรือโทรศัพท์สาธารณะ และการเอามือไปสัมผัสเชื้อแล้วมาขยี้ตา หรือเอาเข้าปาก

 

อาการของไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร

หลังจากรับเชื้อ 1 ถึง 3 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงอย่างฉับพลัน หนาวสั่น เจ็บคอ น้ำมูกใส (ปริมาณไม่มาก) ไอแห้งๆ หน้าแดง ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วตัว ปวดศีรษะรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอ่อนเพลียมากจนต้องนอนพัก ไม่สามารถทำงานหรือปฏิบัติภารกิจของตนเองได้ตามปกติ  อาการไข้สูงมักเป็นอยู่ 2 ถึง 4 วัน แล้วค่อยๆดีขึ้น ส่วนอาการอื่นๆมักหายเองภายใน 5 ถึง 7 วัน

 

ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา (Common cold) โดยที่ผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดามักมีอาการคัดจมูก ไอ จาม น้ำมูกใสๆไหล เป็นอาการเด่น แต่ไม่ค่อยมีไข้สูงและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก เหมือนไข้หวัดใหญ่

 

ทำไมจึงต้องเป็นห่วงผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยบางรายมีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนที่ระบบอื่นด้วย เช่น เยื่อหุ้มหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเช่นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางและชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดบวมอักเสบ ซึ่งบางครั้งอาการรุนแรงจนถึงกับต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้

 

เมื่อผู้สูงอายุเป็นไข้หวัดใหญ่จะแตกต่างจากวัยอื่นๆอย่างไร

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้นก็คือผู้สูงอายุนั่นเอง โดยผู้ป่วยสูงอายุจะมีอาการรุนแรงกว่า และหายช้ากว่าผู้ป่วยวัยอื่น นอกจากนั้น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์  และผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวบางประเภทเช่น โรคถุงลมปอดโป่งพอง หอบหืด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์ ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน

 

ช่วงไหนที่คนเป็นไข้หวัดใหญ่กันเยอะ

ในต่างประเทศ ไข้หวัดใหญ่มักระบาดในช่วงฤดูหนาว แต่ในประเทศไทยโรคนี้จะระบาดในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน ถึง ตุลาคม) เพราะอากาศช่วงนี้มีความชื้นและเย็น ซึ่งเอื้อต่อการกระจายเชื้อไวรัสได้ดี ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว หากใครมีร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย

 

ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ จะดูแลตนเองอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ โดยผู้ป่วยควรนอนพักผ่อนมากๆ ไม่ออกกำลังกายหักโหม อาบน้ำอุ่น กินอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำมากๆ และรักษาตนเองตามอาการเช่น กินยาลดไข้พาราเซตามอล ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก แต่ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ จาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ควรไปพบแพทย์ได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายดังกล่าวแล้วข้างต้น หรือผู้ป่วยมีอาการไข้สูงเป็นเวลานาน หายใจหอบเหนื่อย เจ็บหรือแน่นหน้าอก ไอมีเสมหะปนเลือด  หน้ามืดเป็นลม เพ้อ สับสน อาเจียน กินอาหารและน้ำไม่ได้ หรือกลับมีไข้และไอมากหลังจากที่อาการไข้หวัดใหญ่หายไปแล้ว

 

ควรดูแลตนเองอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นไข้หวัดใหญ่

หัวใจของการป้องกันไข้หวัดใหญ่คือ การระวังรักษาสุขภาพให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เปียกฝน รักษาความอบอุ่นของร่างกาย อย่าเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดก็อย่าเข้าไปในกลุ่มชนแออัด

สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นที่อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย สามารถช่วยตนเองได้อีกทางหนึ่งโดยรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว ซึ่งบริษัทจะผลิตวัคซีนแตกต่างกันไปในแต่ละปีตามสายพันธุ์ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ ดังนั้นจึงต้องรับการฉีดวัคซีนปีละครั้ง หลังฉีด 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนถึงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรค ซึ่งจากการศึกษาของศิริราช ในพศ.2541-2542 พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้แก่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนกระตุ้นให้ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 96 สร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่สูง และลดอัตราการเจ็บป่วยลงได้ร้อยละ 56 ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนก็มีน้อย

 

อย่างไรก็ตามในปีที่ทำการศึกษาดังกล่าว การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุไม่รุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือลดอัตราตายของไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนได้