ข้อเข่าเสื่อม

 

ข้อเข่าเสื่อม

 

ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดในผู้หญิงสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรืออาจพบผู้ที่มีอายุน้อยๆ ก็ได้ แต่พบได้น้อยกว่ามาก อาการที่พบคือ ปวดตามข้อเข่า เวลาเดินลงน้ำหนักจะเจ็บ ขึ้นลงบันไดแล้วมีอาการปวดที่ขาบางคนขาโก่งผิดรูป ซึ่งมีทั้งแบบโค้งเข้า หรือโค้งออกก็ได้ ปกติการรักษาก็จะใช้การกินยา และปรับเลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ยืนนานๆ และไม่ถือของหนักมากเกินไป

 

ส่วนบางคนที่มีน้ำหนักตัวมากก็ให้ลดน้ำหนักลงแต่เนื่องจากการเสื่อมของเข่าจะมากขึ้นตามอายุ จึงทำให้ไม่สามารถกินยาได้ตลอด ทำให้อาการปวดรุนแรงเพิ่มมากขึ้น คนไข้ที่มีอาการเช่นนี้ จะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด

 

การผ่าตัดมีหลายวิธี

1. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าด้วยข้อเทียม เป็นวิธีที่ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะทำให้คนไข้หายจากอาการปวดได้ และขาที่โก่งผิดรูปก็จะกลับมาตรงสวยได้เหมือนกับคนทั่วไป โดยการผ่าตัดจะมีหลักการง่ายๆ คือ แพทย์จะตัดกระดูกส่วนข้อที่สึกหรอออกหมด และนำอุปกรณ์ข้อเทียมสวมเข้าแทนที่ ส่วนข้อเทียมมีทั้งข้างบนและล่าง เพื่อให้เกิดเป็นข้อต่อ และมีตัวรองคลายพลาสติกพิเศษเพื่อให้มีความลื่น

ข้อดี ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าคือ หลังจากการผ่าตัดเสร็จแล้วจะไม่มีอาการเจ็บ สามารถเดินลงน้ำหนักได้ดีขึ้น ขาตรงขึ้น ส่วนข้อเสีย คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเป็นการผ่าตัดใหญ่ คนไข้จึงต้องมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดัน และหัวใจ โดยทั่วไปก่อนการผ่าตัด แพทย์จะต้องพิจารณาและประเมินให้ดีก่อนว่าร่างกายของคนไข้ทนต่อการผ่าตัดใหญ่ได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ถ้าอายุของคนไข้เกิน 80 ปี ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงจริง ก็ไม่ควรผ่า เพราะการผ่าตัดจะต้องใช้พลังงานในการซ่อมแซมร่างกายมากจึงทำให้ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ

 

2. การผ่าตัดกระดูกให้กลับมาตรง วิธีนี้ ทำโดยการตัดมุม และดัดกระดูกกลับมาให้ตรง เพื่อใส่เหล็กดามไว้ วิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิม

ข้อดี ขากลับมาตรง และลดอาการปวดลงได้ ส่วนข้อเสีย คือ การผ่าตัดจะทำโดยไม่ได้เปลี่ยนผิวข้อ ฉะนั้นบางคนที่ผิวข้อสึกมาก แม้จะดัดกระดูกกลับมาให้ตรงได้ด้วยการผ่าตัด แต่ก็อาจยังมีอาการเจ็บอยู่

 

3. การผ่าตัดโดยใช้วิธีการส่องกล้อง จะไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่ที่มาพบหมอ มักจะมีอาการข้อเข่าเสื่อมมากจนไม่สามารถใช้กล้องได้

การผ่าตัดส่องกล้องมี 2 แบบ คือ

3.1 การผ่าตัดเพื่อทำความสะอาดผิวข้อเข่าคนที่ข้อเข่าเสื่อม มักจะมีสารเคมีที่อักเสบสะสมอยู่ในข้อเข่าเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การส่องกล้องเพื่อไปล้างเอาเนื้อเยื่อที่อักเสบออก จะช่วยลดอาการปวดและทำให้สบายขึ้น แต่วิธีนี้จะช่วยบรรเทาได้ในระยะ 1-2 ปีเท่านั้น และการรักษาด้วยวิธีนี้ ไม่สามารถทำให้หายขาดได้

3.2 การปลูกถ่ายตัวผิวข้อ วิธีนี้จะใช้กับคนที่มีอายุน้อย ร่องรอยการสึกของข้อไม่เยอะมาก วิธีนี้จะทำโดยการย้ายกระดูกอ่อนจากบริเวณที่ดูปกติดีมาใส่แทนที่ตรงที่มีปัญหา เพราะฉะนั้นคนไข้ต้องมีกระดูกอ่อนตรงที่บริเวณปกติเยอะพอสมควร และตำแหน่งที่กระดูกเสื่อม หรือว่าผิวข้อเสื่อมควรจะมีขนาดเล็ก เพราะจะทำในคนที่เป็นทั้งข้อเสื่อมหมดแล้วทั้งข้อไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกระดูกที่จะนำไปปลูกถ่าย ซึ่งวิธีนี้จะเป็นทางเลือกเฉพาะกลุ่ม เพราะมีการใช้น้อยและไม่แพร่หลาย

 

หลังการผ่าตัด คนไข้จะยืน และเดินได้ตามปกติ แต่ส่วนใหญ่ห้ามใช้งานมาก เนื่องจากข้อจะมีอายุการใช้งาน ถ้าเดินหรือยืนน้อยก็จะใช้ได้ถึง 20 ปี แต่ปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปี หลังจากผ่าตัด การงอเข่าอาจงอได้ไม่สุดอาจงอได้ประมาณ 90 องศา หรือ 120 องศา ทำให้ไม่สามารถพับไปจนถึงโคนขาได้ แต่มีเทคนิคที่ทำให้คนไข้งอขาได้ดีขึ้นเหมือนเดิมคือ การฝึกงอขาเรื่อยๆ แต่หากเกิดอาการเจ็บแล้วไม่สามารถทำต่อได้ ก็จะเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าคนที่ทำเป็นประจำ

ดังนั้น คนไข้จึงต้องบริหารข้อเข่าด้วยตนเองสม่ำเสมอ และทะนุถนอมการใช้งานข้อเข่า เพื่อให้ข้อเข่าใหม่มีอายุการใช้งานไปอีกนานๆ

 

กิจกรรมที่ทำให้เข่าเสื่อมง่าย

- การนั่งยองๆ ทำงานมีความเสี่ยงเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้น 3 เท่า

- ยกของหนักเป็นประจำมีความเสี่ยง 3 เท่า

- นั่งทำงานติดต่อกันเกิน 1.49 ชั่วโมงต่อวัน

- ยืนทำงานติดต่อกันเกิน 3.6 ชั่วโมงต่อวัน

 

ใครที่รู้ตัวว่า เข้าข่ายนี้ วิธีป้องกันง่ายๆ คือ ให้เปลี่ยนอิริยาบถขณะทำงานทุก 1 ชั่วโมง แล้วเข่าเสื่อมจะไม่มารบกวนใจก่อนวัยอันควร

         

 ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก