คิดให้ดีก่อนใช้กลูตาไธโอน

 

คิดให้ดีก่อนใช้กลูตาไธโอน

 

ในช่วงนี้ คงเคยได้ยินข่าวกันอย่างหนาหูเกี่ยวกับการใช้บริการกลูตาไธโอนที่ทำให้ผิวขาว ทั้งในด้านวิธีการใช้ และผลข้างเคียงจากการใช้ ซึ่งล่าสุดพบผู้ป่วยหญิง ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้กลูตาไธโอนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการ ตัวซีด ตาเหลือง ท้องอืด เอนไซม์ตับสูง ซึ่งผู้ป่วยปฏิเสธการแพ้ยา สารเคมี และอาหาร โดยแพทย์แจ้งว่า ผู้ป่วยรับประทาน L-glutathione ชนิดแคปซูล ไม่ทราบชื่อการค้าและขนาด ซื้อจากร้านชำ รับประทานต่อเนื่องประมาณ 45 วัน เพื่อต้องการให้ผิวขาว แพทย์เฉพาะทางเจาะตับเพื่อหาสาเหตุการเกิดภาวะตับอักเสบรุนแรง

  

โดยแพทย์ประเมินความสัมพันธ์อาการดังกล่าวกับกลูตาไธโอนอยู่ในระดับน่าจะใช่ (probable) กล่าวคือ ผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยรายนี้ได้รับน่าจะเกิดจากการใช้กลูตาไธโอนและแพทย์ได้รักษาอาการดังกล่าวให้กับผู้ป่วยรายนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการนำกลูตาไธโอไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ส่งผลทำให้ร่างกายได้รับอันตราย ดังนั้นก่อนจะใช้บริการกลูตาไธโอนควรมีความรู้ ความเข้าใจก่อนตัดสินใจใช้บริการ อันดับแรกเราควรจะรู้ก่อนว่ากลูตาไธโอนคืออะไร

 

กลูตาไธโอนทำให้ผิวขาวแน่หรือ?

 

จากข้อบ่งใช้ของกลูตาไธโอน จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อบ่งใช้ในการทำให้ผิวขาว แต่ที่มีผู้นำกลูตาไธโอนมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อรับประทานหรือใช้ฉีดเพื่อให้ผิวขาวโดยอาศัยกลไกการออกฤทธิ์ที่อาจอธิบายได้ดังนี้ คือ กลูตาไธโอนไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) เปลี่ยนการสร้างยูเมลานิน (eumelanin) ซึ่งเป็นสีผิวคล้ำเป็นฟีโอเมลานิน (phaeomelanin) ซึ่งเป็นสีผิวจางหรือผิวขาว แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มฟีโอเมลานิน (เม็ดสีขนาดเล็กพบในคนตะวันตก) ของกลูตาไธโอนทำให้สีผิวจางลง แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ระดับยีน เมื่อหยุดการใช้ กลูตาไธโอน ร่างกายก็จะสร้างยูเมลานิน (เม็ดสีที่พบมากในคนผิวคล้ำ) เหมือนเดิมและสีผิวกลับมาคล้ำเช่นเดิม ทั้งนี้การทำให้ผิวขาวโดยใช้กลูตาไธโอนเป็นเพียงผลข้างเคียงเท่านั้น ยังไม่มีผลงานวิจัยรับรองว่าใช้เป็นยาที่ทำให้ผิวขาวได้ และไม่มีข้อมูลยืนยันถึงขนาดที่รับประทาน ระยะเวลา และผลข้างเคียงจากการใช้เป็นเวลานาน อย่างแน่ชัด ทำให้การใช้กลูตาไธโอนมีความเสี่ยงในเรื่องของการได้ไม่คุ้มเสีย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

 

กลูตาไธโอนคืออะไร?

 

กลูตาไธโอน เป็นสารแอนติออกซิเดนซ์ หรือสารที่ต้านอนุมูลอิสระ ร่างกายมนุษย์จะได้รับสารชนิดนี้จากการบริโภคอาหารประเภทโปรตีน ไข่และนม รวมถึงผลไม้ประเภทอะโวคาโด และจะถูกเก็บไว้ที่ตับ ทั้งนี้สารกลูตาไธโอน เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดสมดุล โดยเฉพาะเมื่อร่างกาย ต้องรับสารอนุมูลอิสระเข้าไป สารต้านอนุมูลอิสระก็จะช่วยปรับให้สภาพร่างกายเกิดสมดุล และยังเป็นตัวขจัดของเสีย หรือสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย ตั้งแต่สารปรอท ยาฆ่าแมลง หรือยาบางชนิดที่เราต้องกินเข้าไปและเหลือตกค้าง ตับจะทำหน้าที่ขับสารพิษออกมา โดยสารกลูตาไธโอนมีบทบาทสำคัญในกระบวนการดังกล่าว นอกจากนี้ ร่างกายเราสามารถสังเคราะห์สารกลูตาไธโอนขึ้นเองได้ มีคุณสมบัติเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ปกป้องเนื้อเยื่อของอวัยวะทุกส่วน โดยการต่อต้านอนุมูลอิสระที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยตับในการทำลายและขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีน ช่วยให้เม็ดเลือดมีความแข็งแรง และช่วยเร่งการซึมผ่านของสารอาหารสู่เซลล์

  

ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เรียบเรียงจากบทความ ปภัสสร ผลโพธิ์ กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค www.oryor.