ชี้! นอนกรนเสี่ยงหลอดเลือดสมองแตก

 

ชี้! นอนกรนเสี่ยงหลอดเลือดสมองแตก

 

แนะลดการดื่มแอลกอฮอล์-ควบคุมน้ำหนักช่วยได้

 

           ภาวะนอนกรนไม่ได้สร้างปัญหาแค่เสียงรบกวนอันน่ารำคาญเท่านั้น แต่อันตรายจากการนอนกรนอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

           ผลกระทบจากการนอนกรนซึ่งทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจบางขณะสร้างปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันมากมาย และผู้ที่นอนกรนยังมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดสมองแตก สมองเสื่อม โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ และส่งผลต่อความสามารถในการจดจำและการใช้ความคิดอีกด้วย นอกจากนี้ผู้ที่กรนเสียงดังๆ ยังรบกวนคู่นอนทำให้นอนไม่หลับได้

 

           การตรวจการนอนกรนทำได้อย่างไร

 

           1.ตรวจร่างกายโดยแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดทางหู คอ จมูก เพราะสาเหตุเริ่มต้นอาจพบความผิดปรกติตั้งแต่จมูก โพรงจมูก หลังโพรงจมูก บริเวณเพดานอ่อน ช่องปาก ต่อมทอนซิล โคนลิ้น เป็นต้น

 

           2.ตรวจพิเศษในท่านอน โดยกล้องส่องตรวจหลอดลมชนิดอ่อนตัวได้ (Flexible fiberoptic laryngoscope) บริเวณโพรงหลังจมูก ตำแหน่งเพดานอ่อน และโคนลิ้น (เฉพาะคนไข้บางราย)

 

           3.ตรวจด้วยการเอกซเรย์ เพื่อหาตำแหน่งที่ตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน

 

           4.การตรวจความผิดปรกติจากการนอน (Polysomnography  : PSG/Sleep Lab) เป็นการตรวจการหายใจที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ การตรวจการนอนหลับนี้ประกอบด้วย

 

           -การตรวจวัดคลื่นสมอง เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และการตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ หลับได้สนิทมากน้อยแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอนดีเพียงใด ในบางคนที่มีลมชักขณะหลับ

 

           -การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด

 

           -การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ เพื่อตรวจดูว่าร่างกายมีการขาดออกซิเจนหรือไม่ในขณะหลับ แล้วหยุดหายใจหรือหายใจเบา

 

           -การตรวจวัดลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องในการหายใจ ดูว่ามีการหยุดหายใจหรือเปล่า เป็นชนิดไหน ผิดปรกติมากน้อยหรืออันตรายแค่ไหน

 

           -ตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ

 

          -ตรวจเสียงกรน ดูว่ากรนจริงหรือไม่ กรนดังค่อยแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน

 

           -การตรวจท่านอน ในแต่ละท่านอนมีการกรนหรือการหายใจผิดปรกติแตกต่างกันอย่างไร

 

           นอนกรนรักษาได้

           เป็นความเข้าใจผิดที่คนส่วนใหญ่คิดว่าการนอนกรนเป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ความจริงแล้วการนอนกรนเป็นเรื่องที่ควรเอาใจใส่ และเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ โดยเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เช่น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายและกล้ามเนื้อแข็งแรง หลีกเลี่ยงการนอนหงาย โดยพยายามนอนในท่าตะแคงข้างและนอนศีรษะสูงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาทก่อนนอน กรณีที่เป็นการนอนกรนชนิดอันตรายที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วยควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษา โดยแพทย์อาจเลือกใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP หรือแพทย์อาจรักษาโดยวิธี Somnoplasty ซึ่งการจะพิจารณาเลือกรักษาโดยวิธีใดนั้นก็ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละกรณีไป

  

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้