ระวังเกิดอาการภาวะนิ้วล็อค

 

ระวังเกิดอาการภาวะนิ้วล็อค

 

อาการที่จะรบกวนชีวิตของคุณ

 

               ภาวะนิ้วล๊อคหรือโรคนิ้วล๊อค เป็นโรคหนึ่งที่คนให้ความสนใจเนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อเป็นแล้วจะรบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก...

 

               นพ.กวี ภัทราดูลย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางศัลยกรรมทางมือและจุลศัลยกรรม ศูนย์ศัลยกรรมทางมือ รพ.เวชธานี ได้กล่าวถึงภาวะนิ้วล๊อคเอาไว้ว่า ภาวะนิ้วล๊อคหรือ “Trigger Digit” รวมทั้งที่เกิดที่นิ้วหัวแม่มือและนิ้วมือด้วย ซึ่งความหมายคำว่า “Trigger” นั้น แปลตามพจนานุกรมคือ ภาวะที่มีการสะดุดหรือติดสะดุด สามารถเรียกโรคนี้ได้ว่า “โรคนิ้วติดสะดุด” ส่วนอาการล๊อคนั้นจะเป็นระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งข้อนิ้วมือจะไม่สามารถเหยียดออกเองได้ หรือออกมาได้ด้วยความยากลำบาก

 

               นิ้วล๊อคเป็นอาการที่มักพบในผู้ที่ใช้มือทำงานเป็นเวลานานๆ โดยมากจะเกิดกับผู้ที่ใช้มือทำงาน ในลักษณะที่เกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น การหิ้วของหนัก หรือการใช้มือยึดหรือถืออะไรนานต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุประมาณ 40-50 ปี กลุ่มนี้สาเหตุอยู่ที่การหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นตรงบริเวณปลายมือ คนปกติมีปลอกหุ้มเส้นเอ็นชนิดนี้หุ้มเส้นเอ็นด้วยกันทุกคน แต่เส้นเอ็นจะสามรถลอดผ่านได้อย่างง่ายโดยไม่มีการบีบรัด ซึ่งในภาวะนิ้วติดสะดุดนี้ จะมีการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นมากขึ้นจากสาเหตุที่มีการเสียดสี หรือมีแรงกดภายในปลอกหุ้มเส้นเอ็นเป็นเวลานานๆ เช่น พฤติกรรมการใช้มือดังกล่าวมาแล้ว โดยอาจมีความหนาเพิ่มขึ้นจากปกติ 5-7 เท่า นอกจากความหนาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความยืดหยุ่นก็ลดลง ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะเกิดการบีบรัดเส้นเอ็นขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนทำให้เกิดอาการตามมาดังต่อไปนี้

 

               ระยะแรก จะมีอาการปวดบริเวณปลายมือและนิ้วมือที่ถูกบีบรัด ถ้าใช้นิ้วมืออีกข้างกดไปที่บริเวณปลายมือจะมีอาการเจ็บขึ้นมา ระยะนี้ยังไม่มีอาการติดสะดุดให้เห็น สามารถตอบสนองดีต่อการรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การพักการใช้นิ้วมือ การปรับกิจกรรม การใช้นิ้วมือให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งการฉีดสเตียรอยด์เข้าเฉพาะที่

 

               ระยะที่ 2 อาการปวดมักจะเพิ่มมากขึ้น ระยะนี้จะเริ่มมีก้อนคลำได้ที่ปลายมือ ถ้างอนิ้วไปมาจะคลำได้ก้อนที่วิ่งผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็น ระยะนี้จะมีการติดสะดุด ควรให้การรักษาเหมือนระยะแรก แต่ผลการรักษาจะแย่กว่า โดยเฉพาะถ้ามีอาการติดสะดุดมากกว่า 3 เดือน มักจะไม่หายสะดุด ซึ่งอาจต้องได้รับการผ่าตัดตัดปลอกหุ้มเอ็นออก

 

               ระยะที่ 3 จะมีการล็อคของนิ้ว ในบางรายจะไม่สามารถเหยียดนิ้วออกมาได้ หรือทำได้ด้วยความลำบาก ระยะนี้มักจะลงเอยด้วยการผ่าตัด ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก

 

               การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีที่เกิดอาการดังกล่าว  ใช้หัวแม่มือ “กดและคลึง” จุดที่เจ็บตั้งแต่โคนนิ้วด้านในบริเวณฝ่ามือตามแนวของกระดูกไล่เรื่อยขึ้นไปจนถึงปลายนิ้ว ใช้เวลาประมาณ 2 นาที       ให้ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือ “กดและจิก” ลงไปตรงจุดที่เจ็บเพื่อส่งพลังไปที่จุดเส้นประสาทโดยตรง ซึ่งผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกเหมือนมีลมออกที่หูได้ ใช้เวลาประมาณ 30 วินาที ใช้หัวแม่มือ“กดและนวด”ลงบนจุดที่เจ็บรวมทั้งจุดต่างๆ ที่อยู่รอบๆ บริเวณจุดที่เจ็บด้วย ประมาณ 20 ครั้ง ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับนิ้วตรงบริเวณที่เจ็บ จากนั้น “ดึงหรือกระตุก” ให้นิ้วงอลงมาด้านล่าง ให้ดันหงายขึ้นไปด้านบนสลับกันไล่ตามข้อนิ้วทั้งสามข้อใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบที่บริเวณนิ้วหรือข้อที่มีอาการเจ็บหรือมีปัญหานิ้วล็อก เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมให้ปลอดโปร่งไม่ติดขัด หรือแช่มือในน้ำอุ่น ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ หรือ Stretching Exercise โดยการดัดนิ้วในท่ารำละคร อาจทำประมาณ 20-30 ครั้ง หรือบ่อยเท่าที่ต้องการ

 

               แต่ถ้าหากลองปฐมพยาบาลดูแต่อาการยังไม่ดีขึ้น คงต้องพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง การรักษามีหลายแบบขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของโรค โดยการเริ่มต้นจะได้ยาลดการอักเสบเพื่อลดการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นและลดอาการปวด ซึ่งจะได้ผลดีในระยะแรก  เมื่ออาการเป็นน้อยกว่า  1  เดือน  และยังไม่มีการล๊อคของนิ้วในท่างอ

 

               ถ้ามีอาการปวดมาก หรือรับประทานยาผลยังไม่ดีเท่าที่ควร แพทย์จะพิจารณาการฉีดยาเพื่อลดการอักเสบ ซึ่งโดยทั่วไปส่วนมากผู้ป่วยมักจะหายเจ็บใน 2 – 3 วัน และบางรายจะรู้สึกว่าอาการติดสะดุดลดลง ส่วนข้อจำกัดการฉีดยาแบบนี้ก็มี เช่น ไม่สามารถฉีดได้บ่อยๆ การฉีดไม่ควรเกิน 1-2 ครั้งในรอบ 1 ปี และถ้าหากมีอาการของนิ้วล๊อคบ่อยๆ โดยมีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ การรักษาโดยรับประทานยาหรือการฉีดยามักจะไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดแก้ไขโดยทำให้เส้นเอ็นมีการเคลื่อนไหวกลับสู่ปกติ

 

               การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด สามารถทำได้โดยการฉีดยาเฉพาะที่และเปิดขยายปลอกหุ้มเอ็นเพื่อให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นเป็นปกติ โดยขณะผ่าตัดคนไข้จะไม่มีความรู้สึกเจ็บและยังสามารถเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา โดยการลงมีดผ่าตัดแผลจะยาวประมาณ 0.8 เซนติเมตร จากนั้นจะใช้ตัวกันเพื่อให้เส้นประสาทที่วิ่งอยู่ทั้งสองข้างออกไป จะเห็นปลอกหุ้มเส้นเอ็นอย่างชัดเจน จากนั้นทำการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก และศัลยแพทย์ยังสามารถมองเห็นการเคลื่อนที่ไปมาของเส้นเอ็นได้โดยตรง และทำการเย็บปิดประมาณ 2-3 เข็ม ใช้เวลาผ่าตัด 10 – 15 นาที ซึ่งถ้าทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญแล้ว โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนแทบจะไม่มีเลย คนไข้สามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้ทันที โดยจะมีแผลเป็น 2 – 3 รอยเย็บเท่านั้น ซึ่งไม่ควรโดนน้ำจนกว่าจะตัดไหมแล้ว ประมาณ 10-14 วันหลังผ่าตัดคนไข้จะไม่มีการเกิดนิ้วล๊อค เนื่องจากปลอกหุ้มเอ็นได้ขยายมากขึ้น และเส้นเอ็นทำงานปกติ สามารถกลับไปใช้งานมือและนิ้วได้ตามปกติหลังผ่าตัด

 

               การดูแลหลังผ่าตัด

 

               ผู้ป่วยควรกำมือบ่อยๆ และยกมือสูง ไม่ควรให้แผลถูกน้ำ โดยทั่วไปจะตัดไหมประมาณ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด  และหลังจากใช้งานมือเป็นเวลานานๆ ควรหยุดให้มือได้พักผ่อนบ้างเป็นระยะๆ ยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบ้างโดยดัดนิ้วท่ารำละคร เพราะต้องไม่ลืมว่าสาเหตุของอาการนิ้วล็อกมาจากการใช้งานที่ต่อเนื่องนั่นเอง

  

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ