มะเร็งเต้านม โรคร้ายอันดับหนึ่งของผู้หญิง

 

มะเร็งเต้านม โรคร้ายอันดับหนึ่งของผู้หญิง

 

ข้อมูลล่าสุดของสถาบันมะเร็งหลายแห่ง พบว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา "มะเร็งเต้านม" กลายเป็นโรคมะเร็งที่มีแนวโน้มของอุบัติการณ์ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในผู้หญิงไทย

 

มีความเป็นไปได้ว่า ปัจจัยของการเกิดมะเร็งเต้านมมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เฉพาะอย่างยิ่งในเมืองซึ่งมีอัตราผู้อาศัยหนาแน่นมากๆ

 

การมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุยังน้อย การหมดประจำเดือนช้าลง ผู้หญิงที่ไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรกหลังอายุ 35 ปี หรือคนที่มีประวัติครอบครัวเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเต้านมที่ผิดปกติ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงเมื่อผนวกรวมกับการใช้ฮอร์โมนติดต่อกันเป็นเวลานาน การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การรับประทานอาหารไขมันสูง และมีน้ำหนักตัวมาก ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นได้

 

วิทยาการทางการแพทย์ทุกวันนี้ ยังไม่สามารถยืนยันสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญซึ่งแบ่งเป็น

 

- ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือ อายุและพันธุกรรม

 

- ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หมายถึง การลด ละ เลิก พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือรับประทานอาหารไขมันสูง

 

ที่สำคัญคือ หากไม่มีความจำเป็น ควรเลี่ยงการใช้ยาประเภทฮอร์โมนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ หรือใช้ต่อเนื่องหลังจากร่างกายหมดประจำเดือนไปแล้วเกิน 5 ปี

 

ทั้งนี้ อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านม จะมีค่าเฉลี่ยแปรผันตามอายุที่มากขึ้น โดยเริ่มพบบ่อยตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในคนอายุ 20 ปีขึ้นไปก็พบได้ แต่อัตราการเกิดจะน้อยกว่าอายุ 40 ปี และมีอัตราชุกสูงสุดในกลุ่มประชากรผู้หญิงวัย 55-65 ปี

 

ระยะอาการของมะเร็งเต้านม

 

ระยะแรก เซลล์มะเร็งจะยังอยู่เฉพาะที่เต้านมที่เดียว

 

ระยะที่สอง จึงเริ่มกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆ เช่นรักแร้

 

ระยะที่สาม การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจะเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นโดยจะลุกลามต่อไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นๆ เช่นลำคอ

 

ระยะที่สี่ ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย เซลล์มะเร็งก็จะกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานมาก และยังเป็นระยะอาการที่การรักษาทำได้ค่อนข้างยากอีกด้วย  

 

อาการแสดงของมะเร็งเต้านมมีได้หลายแบบ คือการคลำพบก้อนเนื้อในเต้านมหรือมีเลือดและน้ำเหลืองไหลออกมาจากบริเวณหัวนม หรือมีแผลที่หัวนม ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราอยากแนะนำก็คือ การเฝ้าระวังด้วยการตรวจคัดกรองจึงเป็นการต่อสู้กับมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด

 

การตรวจด้วยตนเองถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการเฝ้าระวังที่ดี ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ (X-Ray) ทำอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) และดิจิทัล แมมโมแกรม (Digital Mammogram) ทุกๆ 1-2 ปี

 

มะเร็งเต้านม ยังไม่รู้สาเหตุ และยังป้องกันไม่ได้ การเฝ้าระวังจะช่วยได้มากในระยะที่ยังรักษาได้ง่าย เพราะถ้าพบในระยะแรก หรือระยะที่สอง แพทย์ก็ยังสามารถรักษาจนหายขาดได้ โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียเต้านมไป ส่วนใหญ่กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นมากแล้ว คือ เป็นก้อน หรือเป็นเซลล์มะเร็ง การรักษาก็จะยิ่งยาก แต่เมื่อเป็นมากแล้ว อย่าเพิ่งตกใจ พยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก