กระดูกคอเสื่อม

 

กระดูกคอเสื่อม

 

คำถามจากคุณบังอรถามมาว่า ดิฉันมีปัญหาเกี่ยวกับอาการปวดบริเวณต้นคอ และบ่าทั้งสองข้าง เป็นๆหายๆ ตอนนี้ดิฉันอายุ 52 ปี รับราชการครู ต้องยืนสอนหนังสือวันละหลายชั่วโมง ออกกำลังกายโดยการเดินตอนเช้าสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ล่าสุดได้เอกซเรย์ดูกระดูกต้นคอ คุณหมอบอกว่ามีหินปูนตรงข้อต่อกระดูกคอ ไม่ทราบอย่างนี้เค้าเรียกว่ากระดูกคอเสื่อมหรือยังคะ แล้วจะทำอย่างไรให้หินปูนที่เกาะอยู่มันหายไปคะ ดิฉันยังรับประทานแคลเซียมอยู่วันละ 1 เม็ด ไม่ทราบว่าจะทำให้มีหินปูนมาเกาะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

 

ผมขอเชิญ ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตอบดังนี้

 

ปัญหาการปวดต้นคอและบ่านั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อ การเอกซเรย์พบหินปูนบริเวณกระดูกคอนั้นเป็นสิ่งที่ตรวจพบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 40-50 ปี การดูว่ามีกระดูกคอเสื่อมด้วยหรือไม่แพทย์จะดูระยะระหว่างกระดูกคอด้วยว่ามีการแคบลงมาก

 

กว่าปกติหรือไม่ ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่ามีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอบริเวณปล้องนั้น อันที่จริงส่วนที่เสื่อมแล้วทำให้เกิดปัญหาคือหมอนรองกระดูกนี่เอง เมื่อมีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกร่างกายจึงพยายามช่วยเหลือตนเองโดยการทำให้เกิดหินปูนเกาะเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของส่วนที่มีปัญหา

 

การเกิดหินปูนบางครั้งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการใช้งานสะสมมาเป็นเวลานาน แต่ในบางรายหินปูนอาจไปทำให้ช่องไขสันหลังหรือช่องทางของเส้นประสาทที่จะแตกแขนงไปเลี้ยงส่วนแขนมีการตีบแคบลง ก็จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวแขน ชาแขน หรือกระทั่งมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมือหรือแขนได้ แต่มักจะค่อยเป็นค่อยไป

 

การรับประทานแคลเซียมในขนาดที่เหมาะสมนั้น ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดหินปูนเกาะตามกระดูกต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในวัยใกล้หมดประจำเดือน ควรได้รับแคลเซียมเสริมอย่างพอเพียง สำหรับส่วนคอนั้นเพื่อชะลอไม่ให้กระดูกคอเสื่อมมากขึ้น และชะลอการเกิดหินปูน ควรบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง โดยการเกร็งศีรษะต้านแรงดันของมือตนเองที่ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ครั้งละประมาณ 10 วินาที ยกละ 10-20 ครั้งในทุกทิศทาง วันละ 3-5 ยก โดยระหว่างทำศีรษะจะอยู่ในท่าตรง เมื่อกล้ามเนื้อรอบๆ แข็งแรงมากขึ้น อาการปวดก็จะลดน้อยลง และยืดอายุการใช้งานของกระดูกสันหลังส่วนคอด้วย

 

หวังว่าคงจะพอเข้าใจนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยหรือคำถามประการใดเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬากรุณาส่งไปที่ สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือE-mail address sisportsmed@hotmail.com สวัสดีครับ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย นพ.ธีรวัฒน์  กุลทนันทน์ และคณะ