จัดสภาพแวดล้อมอย่างไร..ให้ผู้สูงวัยอยู่ดีมีสุข

 

จัดสภาพแวดล้อมอย่างไร..ให้ผู้สูงวัยอยู่ดีมีสุข

 

บริบทพื้นฐานของครอบครัวไทยโดยทั่วไปแล้วจะเป็นลักษณะของครอบครัวขยายซึ่งนอกจากสมาชิกของครอบครัวจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก แล้ว ก็ยังมี ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า นา อาหรือญาติพี่น้องอื่น ๆ อาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เพราะต้องการจะใกล้ชิดและสามารถดูแลซึ่งกันและกันได้ง่ายนั่นเอง

 

การเป็นอยู่ในลักษณะครอบครัวขยายเช่นนี้ส่วนใหญ่มักจะต้องมีผู้สูงอายุอยู่ร่วมด้วย ซึ่งผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง

 

ในการศึกษารวบรวมข้อมูลประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้แบ่งผู้สูงอายุเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้นและผู้สูงอายุตอนปลาย

 

- ผู้สูงอายุตอนต้น หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง

 

- ผู้สูงอายุตอนปลาย หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง

 

ผู้สูงอายุนั้นเป็นช่วงวัยที่สภาพร่างกายร่วงโรยชราภาพ บางรายมีโรคประจำตัวจึงจำต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด บางรายมีอาการ หูตึง ดวงตาฝ้าฟาง หรือเดินเหินไม่สะดวกคล่องแคล่ว ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยหรือใช้ชีวิตสำหรับผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาความไม่ปลอดภัย ลดภาระของผู้ดูแล และที่สำคัญก็คือเพื่อความสะดวกสบายของผู้สูงอายุนั่นเอง ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ มีดังนี้

 

1. เข้าออกได้สะดวก

หมายถึงทางเข้าทางออกจากตัวบ้านหรือจากห้องแต่ละห้องสามารถเข้าออกได้ง่าย ทิศทางต่าง ๆ ไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ประตูของทุกห้องควรมีลักษณะดันเปิดออกจากภายในห้องหรือควรเป็นประตูเลื่อนเพื่อความง่ายในการเปิดปิด ส่วนในกรณีที่ผู้สูงอายุซึ่งต้องนั่งรถเข็นทางเข้าออกของทุกห้องต้องมี ลักษณะเป็นพื้นราบเรียบเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ

 

2. สะอาดสะอ้าน

หมาย ถึงห้องแต่ละห้องได้รับการดูแลให้ไม่มีเศษขยะ ฝุ่น หรือกลิ่นเหม็นจากสิ่งปฏิกูลที่มาจากขยะ จากห้องน้ำหรือห้องครัว รวมทั้งกลิ่นของสารเคมีชนิดต่าง ๆ เช่น ควันบุหรี่ ทินเนอร์ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพการหายใจซึ่งไม่เฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้นแต่สำหรับทุกคนที่อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น ๆ ด้วย

 

3. มีความปลอดภัย

- พื้นห้อง ควรปรับให้มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบเรียบ ไม่ขรุขระและไม่ขัดมันจนลื่นเกินไป เพื่อกันไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุลื่นหกล้ม และห้องที่สำคัญมากที่ต้องให้ความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษก็คือ ห้องน้ำเพราะการเปียกลื่นทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและส่วนใหญ่มักรุนแรงด้วย นอกจากนี้พื้นของห้องแต่ละห้องในบ้านที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ไม่ควรเล่นระดับ หรือมีธรณีประตูกั้นเพราะอาจสะดุดหกล้มเป็นอันตรายได้

 

- แสงสว่าง สวิตซ์ไฟในแต่ละห้องควรอยู่ในตำแหน่งที่ปิดเปิดง่ายไม่สูงไม่ต่ำจนเกินไป นอกจากนี้การปรับแสงไฟต้องมีระดับความสว่างที่ไม่มืดเกินไปจนทำให้มองเห็นไม่ชัดและไม่จ้าเกินไปจนทำให้ตาพร่ามัว นอกจากนี้ในห้องที่มีแสงสว่างจ้าส่องเข้ามาก็ควรติดผ้าม่านเพื่อบังแสงไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอาการตาพร่าหรือปวดตาได้ และควรมีไฟฉายอยู่ประจำในทุกห้องด้วย

 

- เก้าอี้ สำหรับผู้สูงอายุควรมีพนักพิง และไม่ควรมีความสูงจากพื้นมากเกินไป แต่ควรมีความสูงในระดับที่สามารถวางเท้าถึงพื้นได้ นอกจากนี้เก้าอี้ควรทำด้วยวัสดุที่ไม่เบาจนเกินไป เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาในการทรงตัวของผู้สูงวัยในขณะที่นั่ง อีกทั้งเก้าอี้สำหรับผู้สูงวัยก็ไม่ควรทำด้วยวัสดุที่หนักเกินไป เพราะจะทำให้ยากต่อการเลื่อนหรือขยับเก้าอี้ได้

 

- บันได สำหรับบ้านของคนไทย โดยเฉพาะบ้านตามต่างจังหวัด บันไดบ้านมักจะมีลักษณะแคบ สูงชันและมีพื้นของบันไดที่ไม่เรียบเสมอกัน จึงมักทำให้ผู้สูงอายุที่กำลังขาและสายตาเสื่อมถอยเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมา บ่อยครั้ง ดังนั้นควรปรับขนาดของบันไดให้มีความกว้างเพิ่มขึ้นและทำราวบันไดที่แน่นหนา เพื่อให้ง่ายต่อการพยุงตัวมากขึ้น หรือถ้าเป็นไปได้ควรย้ายให้ผู้สูงอายุไปอาศัยอยู่ชั้นล่างเพื่อความสะดวกไม่ต้องขึ้นลงบันไดให้ต้องเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีก

 

- สัญญาณเรียกขอความช่วยเหลือ เป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างที่สมัยนี้ควรต้องติดไว้ตามจุดต่างๆภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องน้ำหรือตามห้องต่างๆที่ผู้สูงอายุชอบอยู่ เพราะเวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทัน หรือเวลาท่านต้องการอะไรจะได้ไม่ต้องลำบากเรียกหากันให้เหนื่อย

 

ทีนี้เรา มาดูกันว่าสถานที่ใดในบ้านที่ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่มากที่สุดและเป็นที่ ๆ เราควรให้ความสำคัญในการจัดสภาพแวดล้อมให้ดีเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

 

1. ห้องนอน

เป็นห้องที่ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่มากที่สุด โดยเฉพาะในบั้นปลายของชีวิตที่ไม่มีกำลังวังชาในการเคลื่อนไหวร่างกายเดินเหินไปไหนต่อไหนได้บ่อยนัก ดังนั้น เตียงนอนจึงมีความสำคัญมากต่อผู้สูงอายุ โดยควรจัดเตียงนอนให้มีระดับความสูงที่ไม่มากเพื่อป้องกันการพลัดตกมาแล้วจะเป็นอันตรายและให้อยู่ในระดับที่ผู้สูงอายุสามารถลุกขึ้นนั่งแล้ววางเท้าถึงพื้นได้ อีกทั้งฟูกที่นอนและหมอนไม่ควรแข็งหรือนุ่มจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดหลังหรือปวดคอได้ นอกจากนี้ในห้องนอนไม่ควรมีของที่ไม่จำเป็นวางเกะกะอยู่ เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุเดินชนได้ อีกทั้งของที่เกะกะรกรุงรังยังเป็นแหล่งของฝุ่นละอองที่ทำลายสุขภาพของผู้สูงอายุอีกด้วย

 

2. ห้องน้ำ

ถือเป็นแหล่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้สูงอายุมากที่สุด เพราะเรามักได้ยินว่ามีผู้สูงอายุหกล้มในห้องน้ำอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นจึงเป็นที่ๆ เราต้องดูแลระมัดระวังเป็นพิเศษ เริ่มจากพื้นห้องน้ำที่ควรหมั่นทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีคราบสบู่หรือตะไคร่ตกค้างอยู่เพราะอาจทำให้ลื่น ควรหาแผ่นกันลื่นมาวางไว้ในห้องน้ำและทำราวเกาะไว้รอบๆ ห้องน้ำเพื่อให้ใช้ในการยึดเกาะทรงตัว เพื่อที่เวลาผู้สูงอายุจะเข้าห้องน้ำจะได้ไม่หกล้มง่ายๆ นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ควรปรับจากห้องน้ำที่เป็นส้วมซึมที่ต้องนั่งยองๆ เป็น โถส้วมแบบนั่งแทนเพราะผู้สูงอายุจะมีปัญหาในการงอเข่าและเวลาลุกนั่งอาจเซล้มได้

 

ผู้เขียนเองก็มีคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในวัย 70 กว่าที่ต้องคอยดูแลในการให้ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านด้วยความปลอดภัยและสะดวกสบาย เช่นจากที่เคยนอนที่ชั้นบนของบ้านก็ต้องให้ท่านย้ายลงมานอนอยู่ชั้นล่าง โดยปรับปรุงห้องให้มีอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ทั้งสัญญาณเรียกขอความช่วยเหลือ ทั้งห้องน้ำที่ติดกับห้องนอน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของท่านเอง ดังนั้น การจัดสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยสำหรับครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุนั้นเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากและไม่ควรละเลย เพราะถ้าท่านใช้ชีวิตอย่างดีมีสุขและปลอดภัย พวกเราในฐานะลูกหลานก็จะมีความสุขและอุ่นใจที่เรามีผู้ใหญ่ที่เรารักอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ โดย ดร.แพง ชินพงศ์