โรคหน้าร้อน

 

โรคหน้าร้อน

 

"ร้อน ร้อนจริงๆ" เสียงบ่นแบบนี้มีให้ได้ยินบ่อยครั้ง เป็นสัญญาณบอกชัดเจนว่าฤดูร้อนมาเยือนอีกแล้ว และดูเหมือนจะมาเร็วกว่าเดิมเสียด้วย สภาพอากาศแปรปรวนอย่างนี้สามารถทำให้เจ็บป่วยได้เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาทควรป้องกันไว้ก่อน เพราะไม่มีใครเจ็บป่วยแทนใครได้

 

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เปิดเผยว่า โรคภัยไข้เจ็บในฤดูร้อนที่ต้องระวังมีหลายอย่างทีเดียว ได้แก่ โรคช็อกแดด (Heatstroke) เกิดจากความร้อนที่สูงจัดจนสมองทนไม่ไหว อาจทำให้ความดันต่ำถึงขั้นชักได้ คนที่ไวต่อโรคช็อกแดดคือ เด็ก ผู้สูงวัย และคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ในนักกีฬาก็สามารถเกิดขึ้นได้ โรคขาดน้ำ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไวต่อความเครียดและเหนื่อยล้า การขาดน้ำทำให้เกิดโรคปวดหัวแบบไมเกรน ปวดท้องประจำเดือน สิวขึ้น หน้าแห้ง ไร้เรี่ยวแรง และไข้ขึ้นได้ง่าย

 

โรคพิษจากน้ำ น้ำในช่วงฤดูร้อนไม่น่าไว้ใจ ทั้งน้ำดื่มปรกติ น้ำแข็ง และไอศกรีม ต้องระวังการปนเปื้อน ทำให้ปวดท้อง ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร โรคเก่ากำเริบ ใครที่มีโรคความดันสูง เบาหวาน หรืออาการปวดศีรษะง่ายอยู่แล้ว ในฤดูร้อนจะมีโอกาสป่วยสูงกว่าคนอื่น จึงต้องลดการออกสู้แดด หลีกเลี่ยงความเครียด

 

โรคร้อนลงผิว (Heat rash, Prickly heat) หมายถึงเรื่องสิวไม่มี แต่อาการผดผื่นคันผิวจะถามหาแทน นอกจากนี้ยังมีโรคเบื่ออาหาร ข้อนี้พบได้ชัดเจน ควรงดอาหารมัน ทอด และใส่กะทิ เปลี่ยนเป็นขนมหวานเย็นๆแนวสมุนไพรแทน เช่น เฉาก๊วย น้ำรากบัว หล่อฮั้งก้วย เก๊กฮวย หรือแตงไทย สำหรับโรคหวัดมักมาจากการตากแอร์หลังผ่านอากาศร้อนจัด ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนป่วยเป็นไข้หวัดได้

 

เมื่อรู้ปัญหาแล้วมาถึงวิธีรับมือป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยในฤดูร้อนกันบ้าง ซึ่ง นพ.กฤษดาแนะบทบัญญัติขจัดร้อนไว้ 10 ข้อ ดังนี้

 

1.ดื่มน้ำให้พอน้ำเปล่าดีที่สุด ดื่มเรื่อยๆ พอดีๆ

 

2.เดินผ่านอากาศร้อนมา อย่าเข้าห้องแอร์ทุกครั้งหรือทันที เพราะจะทำให้เป็นหวัดได้

 

3.รับประทานพอประมาณ อย่าให้อิ่มเกินไป เพราะจะทำให้อาหารไม่ย่อยและป่วยได้ ที่สำคัญความร้อนทำให้อาหารบูดเสียเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ในกระเพาะและลำไส้

 

4.ออกกำลังกายพอประมาณ หากหักโหมจนเหนื่อยเกินไปอาจทำให้ช็อกได้

 

5.คนมีโรคประจำตัวอยู่ต้องระวังมากหน่อย อย่าทำอะไรหักโหม เพราะโรคร้ายอย่างอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจจะถามหา

 

6.นอนเร็วขึ้น เพราะการนอนจะช่วยดับร้อนได้ส่วนหนึ่ง คือช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนซ่อมแซมตัวเองหลังจากผจญไอร้อนมาทั้งวัน

 

7.เจลลดไข้ ช่วยลดความร้อนในเด็กได้ทันใจ ดีกว่าการอาบน้ำ เพื่อป้องกันอาการช็อกแดด

 

8.ควรหลีกเลี่ยงของหวาน เพราะช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอยู่แล้ว การเร่งให้ร่างกายเผาผลาญอาหารประเภทน้ำตาลอีกจะทำให้ป่วยได้

 

9.ใช้อาหารเย็นช่วยดับร้อนปลอดภัยกว่า เช่น ข้าวแช่ แตงไทยน้ำกะทิ น้ำมะตูม หรือเฉาก๊วย

 

10.หากทำได้ใช้แอร์ธรรมชาติดับร้อนดีกว่าแอร์คอนดิชันเนอร์ซึ่งปล่อยอากาศแห้งและเย็นออกมา ทำให้ทางเดินหายใจอักเสบได้ง่าย เรียกว่าที่ไหนมีแอร์ที่นั่นมีสิทธิป่วยนั่นเอง

 

ได้ข้อแนะนำแล้ว อย่าลืมรับมือสู้โรคหน้าร้อนให้ได้กันทุกคน



 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข