ชานิ้วมือ-ปวดกล้ามเนื้อ

 

ชานิ้วมือ-ปวดกล้ามเนื้อ

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลานานๆ ในแต่ละวันหมดไปกับการนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะ ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ อาจนำไปสู่กลุ่มอาการออฟฟิศ ซินโดรม (Office Syndrome) ประกอบด้วย อาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อตึงบริเวณ คอ บ่า ไหล่ ปวดชามือ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

 

สาเหตุมาจาก

 

- กล้ามเนื้อหดเกร็ง (Myofascial Pain Syndrome) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น ปวดตึง เมื่อย คอ บ่า ไหล่ ปวดท้านทอย พบได้บ่อยจากท่าทาง อิริยาทถขณะทำงานไม่เหมาะสม นั่งในท่าเดิมนานๆ รวมถึงสภาพแวดล้อม โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์อยู่ในตำแหน่งไม่เหมาะสม กรณีเป็นเรื้อรัง มักพบจุดแข็งของกล้ามเนื้อ (Trigger Point)

 

- กล้ามเนื้ออักเสบ เช่น หลังยกของหนัก ปวดหลังเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย

 

- เอ็นอักเสบ ข้อต่ออักเสบ เช่น ข้อนิ้วมืออักเสบจากการใช้คีย์บอร์ดนานๆ และวางมือไม่เหมาะสม ปวดข้อศอกจากเอ็นข้อศอกอักเสบ

 

- โรคของกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ที่พบบ่อยที่สุด คือ ปวดหลัง รองลงมาคือปวดคอ สำหรับอาการปวดหลังที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือกระดูก สันหลังเสื่อมมาก จนทำให้ช่องไขสันหลังแคบลง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงน่อง ชาขา โดยเฉพาะเวลา เดินไกลๆ

 

- เส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ (Carpal Tunnel Syndrome) เกิดจากการใช้คีย์บอร์ดทั้งวัน การวางมือไม่เหมาะสมขณะทำงาน ผู้ป่วยมักมีอาการชาที่นิ้วมือ บางรายมีปวด และกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง

 

- ปัญหาการมองเห็น น้ำตาน้อย กล้ามเนื้อรอบดวงตาล้า (Computer Vision Syndrome) เกิดจากจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ

 

- ความเครียด โดยอาการส่วนใหญ่จะหายไปเมื่อหยุดทำงาน แต่ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ อาการอาจกลับเป็นขึ้นมาอีก

 

วิธีการรักษาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันปรับวิ่งแวดล้อมในการทำงาน

 

1.ตั้งจอคอมพิวเตอร์ในลักษณะอยู่กลางลำตัวโดยขอบบนของจออยู่ระดับสายตาพอดี เพื่อให้มองลงต่ำประมาณ 15องศา

 

2.ให้จอคอมพิวเตอร์มีระยะห่างจากสายตาพอเหมาะ ตามขนาดของหน้าจอ เฉลี่ย 20-26 นิ้ว

 

3.ควรวางคีย์บอร์ดในตำแหน่งที่วางมือแล้วไม่ห้อยต่ำกว่าข้อมือ ควรให้ข้อมือเสมอ หรือกระดกขึ้นเล็กน้อย ตัวแป้นคีย์บอร์ด ควรมีที่รองรับข้อมือ

 

4.ควรใช้งานโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่มีลิ้นชักใต้โต๊ะ เพื่อสะดวกในการทำงานพิมพ์

 

5.วางเมาส์แกล้แนวกลางลำตัว และจับเมาส์โดยให้ข้อมือตรง ไม่บิด ระวังการเกร็งกล้ามเนื้อนิ้วมือนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาททุกๆ 1 ชั่วโมง

 

6.ควรนั่งเก้าอี้ให้เต็มเบาะ วางแขนไว้บนที่พักแขน ซึ่งระดับควรพอดีกับที่วางคีย์บอร์ดและเมาส์

 

7.ทำงานในช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง แล้วเปลี่ยนอิริยาบถ หรือออกกำลังกายช่วงสั้นๆ

 

8.ควรพักสายตาจากคอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ อย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง

      

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก