อาการหลงๆ ลืมๆ

 

อาการหลงๆ ลืมๆ

 

อาการหลงๆ ลืมๆ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัย แล้วเมื่อไรจึงควรจะเป็นกังวล เรื่องของความหลงลืมนั้น ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันมักจะเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่ผู้สูงวัย แต่ความธรรมดาก็อาจกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาได้ หากอาการหลงๆ ลืมๆ นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะสมองเสื่อม

 

อุบัติการณ์โดยทั่วไปของภาวะสมองเสื่อมว่าเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยอายุ 65 ปี พบประมาณร้อยละ 8 อายุ 70 ปีพบมากประมาณร้อยละ 15 และสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป

 

ภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากหลายโรคซึ่งมีทั้งที่สามารถรักษาให้หายขาด และรักษาไม่หายขาด ในจำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 เป็นสมองเสื่อมชนิดที่รักษาหายขาด ส่วนอีกร้อยละ 80 รักษาแบบประคับประคอง

 

ภาวะสมองเสื่อมที่อาจหายได้ ได้แก่ ภาวะเลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด การขาดวิตามิน บี 12  โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น ไทรอยด์  และผลข้างเคียงจากการใช้ยา ส่วนสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ที่พบได้บ่อย และโรคอื่นๆ ที่ทำให้สมองเสื่อมคล้ายอัลไซเมอร์ อีก 5-6 โรค

 

ภาวะสมองเสื่อมชนิดที่ไม่สามารถรักษาได้ เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 60-80 โดยส่วนใหญ่อาการของโรคจะปรากฏหลังอายุ 60-65 ปีไปแล้ว เว้นแต่ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พบได้ไม่บ่อยนัก 

 

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ว่า “เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้าอะไมลอยด์ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งไปจับกับเซลล์สมอง เป็นผลทำให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลงจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองเริ่มจากในส่วนของความจำ การเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม”

 

10 อาการอัลไซเมอร์ที่ต้องสังเกต

 

1.หลงลืมบ่อยๆ จนน่าเป็นห่วง

 

2.นึกถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้วไม่ออก

 

3.นึกคำพูดไม่ออก และใช้คำอื่นแทนทำให้ฟังไม่เข้าใจ

 

4.หลงทางกลับบ้านไม่ถูก

 

5.แต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ หรือปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่สนใจทำความสะอาด

 

6.บวกลบเลขง่ายๆ ไม่ได้หรือจำตัวเลขไม่ได้

 

7.เก็บข้าวของผิดที่ผิดทางอย่างไม่เหมาะสม เช่น เอารองเท้าเก็บในตู้เย็น

 

8.อารมณ์แปรปรวนอย่างไม่มีเหตุผล

 

9.บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

 

10.เฉื่อยชา ขาดชีวิตชีวา

 

โรคอัลไซเมอร์แบ่งอย่างกว้างๆ ได้เป็นสามระยะ คือ ระยะแรก ระยะกลาง และระยะท้าย 

 

ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตนเองรู้สึกได้อาจเริ่มเครียด อารมณ์เสียง่าย และซึมเศร้า คนรอบข้างต้องสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลง

 

ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก จำชื่อตนเอง หรือคนในครอบครัวไม่ได้ พฤติกรรมอาจเปลี่ยนไปมาก บางรายก้าวร้าวทำร้ายผู้ดูแล ผู้ป่วยระยะนี้ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษเพราะเริ่มไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องใส่ใจให้มากเรื่องความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย

 

ระยะท้าย ผู้ป่วยอาการแย่ลง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ผู้ป่วยระยะท้ายนี้สุขภาพแย่ลงมากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้างไม่พูด ร่างกายแย่ลง รับประทานอาหารได้น้อยลง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่ายจนกระทั่งเสียชีวิต  

 

การรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทำได้โดยการรักษาแบบประคับประคอง เนื่องจากโรคนั้นเกิดจากความเสื่อมของสมองซึ่งมักหยุดการดำเนินโรคไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นก็จะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินโรคได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการรักษา และยังเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

 

ดูแลสมองวันนี้

 

แม้ภาวะสมองเสื่อมบางชนิดไม่อาจป้องกันได้แต่การดูแลที่ดีอาจช่วยให้สุขภาพสมองของคุณดีกว่าในระยะยาว

 

- ควบคุมน้ำหนัก

 

- เลือกรับประทานอาหารเพื่อบำรุงสมอง อาทิ กรดโอเมก้า 3

 

- นอนหลับให้มากพอในแต่ละวัน

 

- มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ

 

- ลองฝึกเรียนรู้สิ่งใหมๆ ทำ

 

- ออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์

 

 ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์