"ไทรอยด์เป็นพิษ"รักษาให้หายขาดได้

 

"ไทรอยด์เป็นพิษ"รักษาให้หายขาดได้

 

 

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่มีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ด้านหน้าหลอดลมใต้กล่องเสียง มีขนาดกว้าง 6 ซม. ยาว 4 ซม. หนา 1-2 ซม. เคลื่อนขึ้นลงตามการกลืน ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งออกฤทธิ์ควบคุมการเผาผลาญพลังงาน และการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งสภาพอารมณ์ จิตใจการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ รวมทั้งการเจริญเติบโต สติปัญญา และพัฒนาการในเด็ก

 

โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจาก

- ต่อมไทรอยด์ (Graves Disease) หรือก้อนที่ต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นก้อนเดี่ยว (Toxic Adenoma) หรือหลายก้อน (Toxic Multinodular Goiter) สร้างฮอร์โมนออกมามากขึ้น

- การหลั่งฮอร์โมนที่เก็บสะสมไว้ในต่อมไทรอยด์ (Thyroiditis)

- การได้รับฮอร์โมนไทรอยด์จากแหล่งอื่น  เช่นรับประทานยา หรือยาที่มีฮอร์โมนไทรอยด์เป็นองค์ประกอบ หรือจากเนื้องอก เช่น เนื้องอกรังไข่ (Struma Ovarii) มะเร็งไทรอยด์บางชนิด

 

อาการ         

เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หิวบ่อยน้ำหนักลดแม้รับประทานอาหารมากขึ้น ขี้ร้อนขี้หงุดหงิด ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ต่อมไทรอยด์อาจมีขนาดโตขึ้น บางรายอาจมีอาการตาโปนขึ้น

กรณีที่เป็นโรคมานาน มีอาการรุนแรง อาจพบภาวะหัวใจวาย สับสน ประสาทหลอนได้ ในผู้สูงอายุอาการมักไม่ชัดเจน อาจพบเพียงน้ำหนัดลดอ่อนเพลีย และเบื่ออาหารเท่านั้น

การวินิจฉัยมักได้จากประวัติการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจเลือดที่พบระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้น

 

การรักษาโดยทั่วไปทำได้ 3 วิธี

 

1.การรับประทานยา เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์         

ผู้ป่วยมักต้องรับประทานยาต่อเนื่องประมาณ 12-18 เดือน วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยอายุน้อย เป็นโรคมาไม่นาน ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตไม่มาก หรือผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น มีโรคประจำตัวหลายโรค

 

2.การรับประทานน้ำแร่รังสีไอโอดีน

เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เป็นโรคมานาน ผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำหลังรับประทานยาครบตามกำหนดผู้ป่วยที่แพ้ยาต้านไทรอยด์แบบรุนแรง

 

3.การผ่าตัด

เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากมีการกดเบียดอวัยวะข้างเคียงจากต่อมไทรอยดท์ เช่น กลืนลำบาก หายใจลำบาก หรือผู้ป่วยที่สงสัยอาจะมีมะเร็งต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการทางตาจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นรุนแรง (Severe Graves Ophthalmopathy)

โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาและทำให้รักษาหายยากขึ้น ในกรณีที่รักษาหายขาดแล้วควรมีการติดตามระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากอาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำหรือเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก