อาหารลดหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

 

อาหารลดหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

 

หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

               โรคหัวใจและหลอดเลือด ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรโลก 

 

               ในโลกนี้ทุกๆ 2 วินาทีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว และ 1 ใน 5 คนที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน มักจะเสียชีวิตอย่างกะทันหัน โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ส่วนใหญ่เกิดกับชายในวัยทำงานที่กำลังสร้างตัวและขะมักเขม้นกับการหาเลี้ยงครอบครัว สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่รวมไปถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย และตามัวตามืดนั้น มีต้นตอที่เกิดจาก “โรคหลอดเลือดแดงตีบ-ตันจากตะกรันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งและเปราะ (Atherosclerosis)" ซึ่งโรคนี้นับเป็นมฤตยูร้ายต้นเหตุการเสียชีวิตอย่างแท้จริง

 

               ปัจจุบันพบว่าแนวโน้มการเกิดตะกรันในหลอดเลือดแดงทำให้หลอดเลือดแข็งและเปราะเพิ่มขึ้น เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น พฤติกรรมในการบริโภค การออกแรงขยับเขยื้อนน้อยลง รวมไปถึงการไม่ได้ออกกำลัง การใช้ชีวิตที่รุมเร้าด้วยความไม่แน่นอนทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ห่างไกลศาสนาขาดที่พึ่งทางใจ  ดังนั้นคนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสที่จะเกิดตะกรันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งและเปราะได้ทั้งสิ้น

 

               อาการเริ่มแรกของโรคหัวใจขาดเลือด มักจะมีอาการเจ็บหน้าอก เจ็บแขนซ้ายหรือกราม อึดอัดหายใจไม่ออก อ่อนเพลียและเหงื่อออกง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อหัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ขณะออกกำลังกาย สามารถตรวจพบโดยการทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินบนสายพานพร้อมบันทึกคลื่นหัวใจ

 

               สำหรับปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยเสริมการเกิดตะกรันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง มีทั้งปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น เพศ อายุ และ พันธุกรรม เช่น การมีอายุมากขึ้น (ผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป) มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ 4 ประการแรกที่สำคัญคือ บุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน ปัจจัยเสริม ได้แก่ ความอ้วน ความเครียด เกลือ น้ำตาล ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสำหรับการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ได้แก่ วัดความดันโลหิต ตรวจเลือดวัดปริมานไขมันทั้ง 6 อย่าง วัดปริมาณน้ำตาลในเลือด รวมทั้งการให้ข้อมูลเรื่องประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวกับแพทย์ด้วย

 

               การป้องกันและดูแลสุขภาพด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เริ่มต้นด้วยการเลิกทำร้ายผิวในของหลอดเลือด ด้วยการงดการสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงสูดควันบุหรี่ของคนอื่น ลดหรืองดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ อาทิ ผักสดผลไม้สดหลายรสและหลากสี เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง รับประทานอาหารแต่พอดีกับแคลอรี่ที่ใช้ในแต่ละวัน ป้องกันการสะสมไขมันที่ทำให้อ้วน มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม ไม่นั่งทำงานอยู่กับโต๊ะนานเกินไป หมั่นหาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผ่อนคลายความเครียด  รักษาความดันโลหิต ควบคุมระดับไขมันในเลือด และเบาหวาน ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

               ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ ชมรมโภชนวิทยามหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลดีผลเสียของการบริโภคน้ำมันแต่ละชนิดว่าน้ำมันชนิดใดดีต่อร่างกาย ชนิดใดไม่เหมาะสมต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน   มะเร็ง เป็นต้น หลายคนจึงเริ่มหลีกเลี่ยงน้ำมันไม่ดีหันมาใช้น้ำมันที่มีสัดส่วน กรดไขมันชนิดดีมากขึ้น ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนล่า เป็นต้น ซึ่งพบว่าจะมี กรดไขมันดีคือชนิดไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง  กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว มีผลต่อการเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หลอดเลือดและหัวใจ กรดไขมัน โอเมก้า 3 และ 6 ซึ่งเป็น "กรดไขมันจำเป็น" หมายถึง กรดไขมันที่ร่างกายสร้างไม่ได้ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น กรดไขมัน โอเมก้า 3 และ6 ที่ได้จากน้ำมันทานตะวัน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและเป็นสารตั้งต้นในการสร้าง EPA และ DHA ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและ หลอดเลือด มีส่วนช่วยให้สมองและดวงตาทำงานได้ดี

 

               ปัจจุบันนักวิจัยพบว่าร่างกายของคนเราควรบริโภค กรดไขมันชนิด โอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6 ในปริมาณที่พอเหมาะและในสัดส่วนที่สมดุลจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย โดยที่สถาบันแพทย์ University of Maryland แนะนำให้บริโภค โอเมก้า 6 โอเมก้า 3 ในสัดส่วน 4 : 1 เพื่อความสมดุลของร่างกายและช่วยป้องกันภาวะผิดปกติของร่างกาย ธรรมชาติไม่สามารถสร้างน้ำมันที่มีกรดไขมัน โอเมก้า 3 และ 6 ในสัดส่วนที่เหมาะสม จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคน้ำมันชนิดใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่าง “น้ำมันคาโนล่าผสมน้ำมันทานตะวัน” ซึ่งน้ำมัน 2 ชนิดนี้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้รักสุขภาพว่าเป็นน้ำมันที่ดีมีคุณค่าต่อสุขภาพ โดยนำมาผสมในสัดส่วนน้ำมันคาโนล่า 4 ส่วนต่อน้ำมันทานตะวัน 1 ส่วน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ผ่านการค้นคว้าแล้วว่าสมดุลและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ได้รับ กรดไขมัน โอเมก้า 3, 6 ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับการบริโภค

 

               นอกจากนี้ Blended oil ที่เกิดจากการผสมของน้ำมันคาโนล่าและน้ำมันทานตะวันในสัดส่วนนี้ยังมี  โอเมก้า 9 และวิตามินอีสูง มีจุดเดือดสูงถึง 230 องศา จึงสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายประเภท ทั้ง ผัด ทอด ย่าง หมัก ทำน้ำสลัด เป็นต้น การเลือกบริโภคน้ำมันที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายต่างๆ ซึ่งน้ำมันชนิดนี้มี  โอเมก้า 3, 6 ในสัดส่วนที่สมดุลและเหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายและยังจะช่วยส่งเสริมสุขภาพได้ จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของบริโภคในยุคนี้ การรู้ทันโรคร้าย หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โรคร้ายไหนๆ ก็มิอาจคุกคามคุณได้

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ