รวมสารพันโรคผู้สูงวัย

 

รวมสารพันโรคผู้สูงวัย

 

วันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยหรือวันมหาสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันสำคัญอีกวันคือ “วันผู้สูงอายุ” ด้วย ปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ

 

ซึ่งในวัยนี้จะต้องระมัดระวังและใส่ใจดูแลมากกว่าวัยอื่นๆ เพราะยิ่งอายุเยอะก็มักจะเจอปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เยอะไปตามอายุด้วยเช่นกัน ดังนั้นวันนี้ ขอรวบรวมสารพันโรคที่ผู้สูงอายุควรระวังมาฝากกัน สำหรับโรคที่มักจะพบในวัยนี้ ได้แก่

 

1.โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่ในผู้สูงอายุ โดยข้อที่พบอาการเสื่อมได้มาก คือข้อที่รับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้นมักมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้นด้วย และเริ่มมีโครงสร้างภายในข้อไม่เป็นปกติ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงความผิดปกติภายในข้อ อันประกอบด้วย ผิวของข้อเข่า ซึ่งเป็นกระดูกอ่อน เริ่มสึกหรอ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ การเคลื่อนไหวข้อ มีอาการติดขัด ฝืด หรือเสียงดังคล้ายกระดาษทรายถูกัน กระดูกรอบข้อเกิดการปรับตัว โดยสร้างกระดูกงอกขึ้นภายในข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง กระดูกบริเวณข้อเข่า และรอบๆ ข้อ บางลง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มเดินน้อยลง

 

อาการผิดปกติของผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก ประกอบด้วย อาการปวดอาจร่วมกับการมีข้อเข่าบวม อาการขัดที่ข้อ โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นของข้อ ในขณะเหยียดและงอข้อเข่าจะมีอาการปวด และหรือขัดในข้อมากขึ้น และมีเสียงลั่นในข้อ ซึ่งอธิบายจากการที่ผิวกระดูกภายในข้อเริ่มไม่เรียบและมีกระดูกงอกเกิดขึ้น

 

อาการปวดที่เกิดในผู้ป่วยบางรายทำให้เกิดการปรับตัวด้วยการไม่เหยียด หรืองอข้อเข่าจนสุด เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น ทำให้เกิดปัญหาข้อติดขัด และเคลื่อนไหวไม่เต็มวงของการงอเข่าตามมา เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น หรือข้อที่เสื่อมอักเสบนั้นถูกใช้งานมากอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้อาการผิดปกติเหล่านี้เป็นมากขึ้นได้โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมาพบแพทย์ก็มักจะมาเมื่ออาการต่างๆ เกิดขึ้นพอควรแล้ว หรือไม่สามารถประกอบภารกิจประจำวันได้เหมือนเดิม ซึ่ง อาการหลักๆ ก็คือ อาการปวด ขัด บวม ของข้อเข่า หรือในรายที่มีข้อเข่าโก่งอยู่บ้างแล้วก็มักจะมาด้วยเรื่องเข่าผิดรูป หรือทำให้เกิดปัญหาปวดมากขณะเปลี่ยนท่าเช่นจากนั่งเป็นยืน เมื่อเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีอาการของโรคซึ่งจะสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ถ้าหากว่าอาการที่เกิดขึ้นน้อย ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแต่เนิ่นๆ ก็สามารถชะลอการเสื่อมของข้อเข่านั้นๆ ได้

 

วิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่านั้น ประกอบด้วยวิธีหลักๆ ดังนี้ หลีกเลี่ยงท่างอข้อเข่ามากๆ เช่น นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ และนั่งคุกเข่า หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดหลายๆ ชั้น ควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี ไม่ให้อ้วน  หมั่นขยันบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอยู่เสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อด้านหน้าของต้นขา ทานยาแก้ปวดเมื่อจำเป็นหรือทานเป็นครั้งคราว ใช้ไม้เท้าช่วยเมื่อต้องเดินเป็นระยะทางไกล หรือเดินในที่ไม่เรียบ

 

2.โรคกระดูกพรุน เป็นอีกโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ โรคกระดูกพรุนเกิดจากการลดลงของปริมาณกระดูกในร่างกายร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูก เป็นผลให้ความแข็งแรงของกระดูกโดยรวมลดลง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ โดยเฉพาะผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคนี้มากถึง 30-40% ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมาก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ทำให้มวลกระดูกของผู้หญิงในกลุ่มวัยนี้ลดลงถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนยังพบได้ในภาวะผู้ป่วยที่ได้รับการตัดรังไข่ 2 ข้าง ผู้ป่วยที่ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดเช่นสารสเตียรอยด์หรือยากันชักบางชนิดและการสูบบุหรี่ก็อีกเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าจะมีอาการแสดงซึ่งได้แก่กระดูกหัก ตำแหน่งที่พบบ่อยในโรคกระดูกพรุนได้แก่บริเวณข้อสะโพก,ข้อมือหรือกระดูกสันหลังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ นอกจากนี้ อาการหลังโกง หรือตัวเตี้ยลงมากกว่า 2 เซนติเมตรนั้นอาจเป็นอาการของโรคกระดูกพรุนที่มีการยุบตัวลงของกระดูกสันหลังจึงเป็นภัยเงียบเพราะคนไข้จะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้แล้ว

 

โรคกระดูกพรุนวินิจฉัยได้จากการตรวจค่าความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องมือ DEXA นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติอื่นๆ เช่น การขาดวิตามินดี และสามารถตรวจประเมินอัตราการสร้างและสลายของกระดูกได้ การตรวจเพิ่มเติมนี้เพื่อใช้ในการตัดสินใจวางแผนการรักษาและติดตามผลการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุนด้วยยาในปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ยากลุ่มที่ลดอัตราการสลายกระดูก และยากลุ่มที่เสริมสร้างมวลกระดูก ทั้งนี้การให้ยา แพทย์จำเป็นต้องตรวจคัดกรองผู้ป่วย เพื่อพิจารณาให้ยาตามความจำเป็น จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนควรมาตรวจภาวะกระดูกพรุน ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเสริมการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว นม และงาดำ โดยทั่วไปแล้วผู้สูงอายุ ควรได้รับแคลเซียม วันละ 1200 มิลลิกรัม ควบคู่กับวิตามินดี 800 ไอยู นอกจากนี้ควรเพิ่มการออกกำลังกายที่เป็นการลงน้ำหนักที่ข้อ เช่นการยกน้ำหนักและการเดิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และควรมีการออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลาเช้าหรือเย็น เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี

 

3.โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่งในผู้สูงอายุ โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาและควบคุมตลอดชีวิต มากกว่าร้อยละ 90 ของโรตความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนโดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้แก่ การมีความเครียดสูง บริโภคอาหารรสเค็มหรือเกลือโซเดียมมาก ในผู้สูงอายุ มีการผนังหลอดเลือดแดงมีการแข็งตัวขึ้นและเสียความยืดหยุ่นอาจจะมีผลให้ความดันโลหิตในหลอดเลือดสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง คือ ภาวะความดันในหลอดเลือดแดงสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป โดยวัดขณะนั่งพัก 5-10 นาทีที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ และได้ค่าสูงตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

 

โรคความดันโลหิตสูงระยะแรกส่วนใหญ่ไม่มีอาการมีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการและที่พบได้บ่อย คือ ปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ ปวดศีรษะ สำหรับผู้ที่มีความดันสูงรุนแรงอาจมีอาการเหล่านี้ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือเท้าชา ตามัว อัมพาต หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน เป็นต้น โรคนี้ถ้าไม่ได้รักษาเป็นเวลานานๆ ก่อให้เกิดความเสียหายและทำให้เกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกทำให้เป็นอัมพาต, หัวใจล้มเหลว, การทำงานของไตเสื่อมลง ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง เป้าหมายของการรักษาความดันโลหิตสูง คือการควบคุมให้ต่ำกว่า 140 / 90 มม.ปรอท และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือไตเรื้อรัง ควรคุมให้ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท

 

แนวทางการรักษา มีดังนี้ เปลี่ยนพฤติกรรมสู่การสร้างสุขภาพที่ดี เพื่อลดความดันและปัจจัยเสี่ยง ผู้ที่มีความดันสูงเพียงเล็กน้อยความดันจะลดเป็นปกติได้โดยไม่ใช้ยา ได้แก่ เลิกบุหรี่และเหล้า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารรสจัด (หวาน มัน เค็มจัด) เพิ่มรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลาและดื่มนมไขมันต่ำ ลดน้ำหนักส่วนเกิน และรู้จักคลายเครียด สำหรับผู้ที่ความดันยังคงสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท หลังจากปรับพฤติกรรมแล้วควรปรึกษาแพทย์ให้ยาลดความดันโลหิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ปัจจุบันมียาใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ผลดีในการรักษาและควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ เช่น ขับเกลือและน้ำออกทางปัสสาวะ ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ขยายหลอดเลือด เป็นต้น ในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องติดตามการรักษา เพื่อประเมินการควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจปัสสาวะและเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น

 

ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์