"โรคความจำเสื่อม" เรื่องที่ทุกบ้านไม่ควรมองข้าม

 

"โรคความจำเสื่อม" เรื่องที่ทุกบ้านไม่ควรมองข้าม

 

เมื่อพูดถึง "โรคความจำเสื่อม" เป็นปัญหาที่ทุก ๆ บ้านต่างตระหนักกันดีว่า ยามเข้าสู่วัยแก่เฒ่าแล้ว จะต้องเผชิญกับการหลงลืม สูญเสียความสามารถในการจำ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วันนี้นอกจากการดูแลตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว การตรวจเช็กหาความเสื่อมของสมองก่อนเสื่อมถาวรนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้แล้ว

 

        เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ความจำเสื่อมเป็นโรคที่มีแนวโน้มการเกิดมากขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ ที่มีอายุยืนยาวขึ้นจากการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉลี่ยอายุยืนขึ้น 2 ปี ในผู้หญิงอายุยืนเพิ่มขึ้นถึง 84 ปี และชายอายุยืนถึง 82 ปี สอดคล้องกับแนวโน้มโรคสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย   

    

โดยอาการหลงลืมนั้น อายุรแพทย์สมองและระบบประสาทรายนี้ บอกว่า เป็นอาการเริ่มต้นของโรคความจำซึ่งพบได้ 40% ของผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป ที่เริ่มแสดงอาการให้เห็น ในขณะที่ 10% ของกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นโรคความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง ได้รับสารที่มีผลกระทบต่อเซลล์สมอง หรือเกิดจากปัญหาหลอดเลือดสมองอุดตัน        "ความจำเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ อีกทั้งมีระยะเวลาการดำเนินโรคนาน 2-5 ปี การแสดงอาการเป็นไปอย่างช้าๆ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงมีอาการ ทำให้การวินิจฉัยและรักษาทำได้ไม่ทันท่วงที"

 

       ดร.นพ.โยธิน บอกว่า ปัจจุบันการรักษาโรคความจำเสื่อมมีวิธีการเดียว คือการให้ยา ซึ่งจะช่วยชะลอสารเคมีในสมองให้เสื่อมช้าลง ทำให้อาการดีขึ้น แต่ไม่ให้หายขาด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาโรคความจำเสื่อมได้ตรงจุดขณะที่การซักประวัติ และ MRI ซึ่งไม่ให้ข้อมูลในเชิงลึกมากพอ และอาจทำให้การรักษาหลงทาง หรือทำได้ไม่ตรงจุดเท่าที่ควร    

   

ดังนั้น การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมแบบใหม่ โดยใช้เทคนิค PET Scan จึงกลายเป็นความหวังใหม่ที่แพทย์เริ่มนำมาใช้กับโรคสมองและความจำ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความแม่นยำมากกว่า ซึ่งในอดีตเทคโนโลยีนี้ใช้กับการวินิจฉัยมะเร็งเพียงอย่างเดียว        "การวินิจฉัยโรคด้วย PET Scan คือการวัดการทำงานของเซลล์สมอง จากระดับกลูโคส หรือน้ำตาลในสมองซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจนในผู้ป่วยความจำเสื่อม ซึ่งผลของภาพถ่ายที่แสดงจะให้สีที่แตกต่างชัดเจนในบริเวณที่มีปัญหา หรือมีแนวโน้มที่จะพบภาวะเสื่อมได้ในอนาคต" คุณหมอกล่าว    

   

ปัจจุบันคนไข้ที่เริ่มสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคความจำเสื่อม หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิค PET Scan ได้ตั้งแต่อายุ 45-50 ปี ช่วยลดความเสี่ยงจากการวินิจฉัยที่สามารถยืนยันผลได้ถึง 70%        "การที่คนไข้รู้ตัวล่วงหน้าว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต จะช่วยให้คนไข้วางแผนปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยเน้นการบริหารสมองด้วยการอ่านหนังสือ เล่นเกมที่อาศัยการคิดคำนวณ การพบปะพูดคุยเข้าสังคม ทั้งหมดที่สามารถช่วยชะลอ หรือทุเลาอาการเสื่อมที่จะเกิดขึ้นได้" อายุรแพทย์สมองและระบบประสาททิ้งท้าย

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ