วัยทอง ออกกำลังกายอย่างไรดี

 

วัยทอง ออกกำลังกายอย่างไรดี

 

 เรื่องของการออกกำลังกายสำหรับคนวัยทองทั้งในผู้หญิงและผู้ชายนั้นมีความสำคัญมาก เพราะปัญหาที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นแล้วก็คือเรื่องของกระดูก รวมถึงข้อต่อและกล้ามเนื้อต่างๆ ซึ่งจะเกิดมากขึ้นในวัยทองหลังจากที่ขาดฮอร์โมน ดังนั้นการที่จะมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญ ในวัยทองนั้นเราแนะนำว่าการออกกำลังกายควรจะมี 2 ส่วน คือ

 

1.การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การวิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ เพื่อให้มีการสูบฉีดโลหิตให้หัวใจและปอดทำงานดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ที่จะเกิดขึ้นตามมาในคนสูงอายุ

 

2.การออกกำลังกายแบบแบกรับน้ำหนัก เนื่องจากเมื่อเข้าสู่วัยทองวัยหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกและสูญเสียแคลเซียมออกจากกระดูก ซึ่งการที่เราได้ออกกำลังกายแบบที่มีการแบกรับน้ำหนักก็จะช่วยทำให้ลดการสูญเสียเนื้อกระดูกได้ ในต่างประเทศนิยมใช้การยก น้ำหนัก หรือยกเวต ซึ่งบ้านเราอาจจะไม่เป็นที่นิยมมากนัก

 

จึงแนะนำว่า การออกกำลังกายแบบแบกรับน้ำหนักที่ทำได้ง่ายก็คือ การแบกรับน้ำหนักตัวเอง ได้แก่ การเดิน ซึ่งจะช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายอื่นๆ อีก เช่น ชี่กง หรือไท้เก๊ก เหล่านี้เป็นการออกำลังกายที่มีประโยชน์ต่อกระดูกและกล้ามเนื้อโดยตรงเพราะมีการเกร็ง และมีการแบกรับน้ำหนักของร่างกายด้วย เรียกว่าได้ประโยชน์โดยตรง ที่สำคัญคือเป็นการออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทกกระทั้นมากนัก ดังนั้นโอกาสที่จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับข้อ หรือเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อต่างๆ ก็จะเป็นไปได้น้อย ส่วนการเล่นโยคะ ถ้าเราสามารถที่จะเลือกท่าทางหรือเลือกการปฏิบัติ ซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญหาหรืออันตรายต่อกล้ามเนื้อและข้อได้ ก็เป็นสิ่งที่สามารถจะกระทำได้

 

ท้ายที่สุดและสำคัญที่สุดคือ ถ้าคิดว่าปัญหาวัยทองที่ตนเองประสบไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง และจำเป็นต้องได้รับการดูแล ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และสภากาชาดไทย ทุกแห่งล้วนมีบริการให้คำปรึกษา ดูแลทั้งบุรุษและสตรีที่อยู่ในวัยทองครับ ซึ่งเราเรียกกันง่ายๆ ว่าคลินิกวัยทอง ส่วนในโรงพยาบาลที่เล็กลงมาอาจจะไม่มีคลินิกเฉพาะเรื่องวัยทอง แต่ก็สามารถจะปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางได้ อย่างกรณีของคุณผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยทองก็สามารถปรึกษากับสูตินรีแพทย์ ซึ่งทุกท่านก็จะมีความรู้ความสามารถที่จะดูแลปัญหาเหล่านี้ได้ ส่วนคุณผู้ชายก็สามารถปรึกษาได้กับแพทย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งก็สามารถจะดูแลปัญหานี้ได้เช่นเดียวกันครับ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์