การดูแลตนเองให้ห่างไกลมะเร็งปากมดลูก

 

การดูแลตนเองให้ห่างไกลมะเร็งปากมดลูก

 

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก และจะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าปี 2548-2558 จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งโดยไม่ได้รับการรักษาประมาณ 84 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 40 เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ ดังนั้น องค์การอนามัยโลกมีนโยบายให้ทุกประเทศทั่วโลกรณรงค์เรื่องการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตั้งแต่วัยเด็ก

 

รศ.พญ.เยาวลักษณ์ ชาญศิลป์ ภาควิชารังสีรักษา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ความเห็นว่า อันตรายของมะเร็งทุกชนิดคือ การทำให้สูญเสียการทำงานของอวัยวะที่เกิดโรคหรือโรคแพร่กระจายไป ดังนั้นอันตรายของโรคมะเร็งจึงขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกิดมะเร็งและอวัยวะที่แพร่กระจาย สำหรับมะเร็งปากมดลูกนั้น แม้ว่ามดลูกจะไม่ใช่อวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ก้อนมะเร็งเฉพาะที่สามารถทำให้เกิดการเสียเลือดทั้งเรื้อรังและรุนแรงที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต และยังทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน ไปจนถึงการกดเบียดท่อไตทำให้ไตวายได้ และอันตรายนอกจากนี้ก็คือการล้มเหลวของอวัยวะที่โรคกระจายไป สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก

 

โรคมะเร็งเกิดจากการที่เซลล์ถูกกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลานาน โดยสารก่อมะเร็งอาจเป็นเชื้อโรคโดยเฉพาะไวรัส สารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเรื้อรัง หรือสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์ ซึ่งในมะเร็งปากมดลูกนั้นเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus) เป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญที่สุด ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก

 

มะเร็งปากมดลูก มีความเกี่ยวเนื่องกับเพศสัมพันธ์ ผู้มีอัตราเสี่ยงต่อโรคนี้ คือผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยเฉพาะในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ผู้มีบุตรมาก ผู้มีเพศสัมพันธ์กับชายหลายคน ผู้มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่นอนหลายคน และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อไวรัส HIV จะมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ 5-6 เท่า ส่วนในประเทศที่ผู้ชายได้รับการขริบปลายอวัยวะเพศ จะมีอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกลดลง

 

สำหรับผู้หญิงที่มีครอบครัวและมีสามีเดียวก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกสัมพันธ์กับการบาดเจ็บหรือการระคายเคืองเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้ามีบุตรมากหรือสามีมีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือสามีมีคู่นอนหลายคน

 

อาการของมะเร็งปากมดลูก ตั้งแต่ขั้นต้นจนรุนแรง

 

นับเป็นโชคดีอย่างหนึ่งของผู้หญิงที่มะเร็งปากมดลูกนี้สามารถตรวจได้ง่าย จึงตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนแสดงอาการ และยังสามารถตรวจพบภาวะผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกได้ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง ดังนั้น หากจะถามว่าอาการของมะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง

 

-ไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจภายใน  -การมีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งเพียงเล็กน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน การมีเลือดประจำเดือนมาก หรือนานกว่าปกติ

 

-การมีของเหลวออกทางช่องคลอด หรือตกขาว ทั้งที่เป็นน้ำและข้น เป็นมูก เป็นหนอง มีเลือดปน มีเศษเนื้อปน แม้มีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นก็ตาม

 

-ในรายที่โรคมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดการปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก หรือกดเบียดท่อไตทำให้ไตทำงานผิดปกติ จนอาจถึงไตวายได้

 

-ในระยะแพร่กระจาย อาจกระจายตามระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง เกิดอาการปวดหลัง ปวดจุกลิ้นปี่ หรือแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า โดยเฉพาะข้างซ้าย และยังอาจกระจายตามกระแสเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมองด้วย

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

โดย : ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ