ฝังเข็มมีผลอย่างไรในข้อเข่าเสื่อม

 

ฝังเข็มมีผลอย่างไรในข้อเข่าเสื่อม

 

ประวัติการฝังเข็ม

            การฝังเข็มเป็นการรักษาชนิดหนึ่งของการแพทย์แผนจีน ตามประวัติศาสตร์จีนการรักษาโดยการฝังเข็มเกิดขึ้นตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาลซึ่งตรงกับยุคหิน เข็มฝังเข็มในสมัยแรกจึงทำมาจากหิน หลังจากนั้นไม่นานการแพทย์แผนจีนจึงเริ่มเกิดขึ้น และพัฒนาขึ้นมาภายใต้กรอบแนวคิดของความสมดุลระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ โดยอธิบายว่าความสมดุลตามธรรมชาตินี้เกิดจากความสมดุลของความแตกต่างที่ตรงข้ามกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ หยินและหยาง ตัวอย่างของ หยินที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น เวลากลางคืน ความสงบ ความเย็น ความเป็นผู้หญิง ที่เกี่ยวกับร่างกายและการทำงานของร่างกาย เช่น อวัยวะภายใน ภาวะพร่อง ความเสื่อม เป็นต้น ส่วนหยางเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับหยิน ซึ่งได้แก่ เวลากลางวัน ความพลุ่งพล่าน ความร้อน ความเป็นผู้ชาย อวัยวะภายนอก ภาวะเกิน และการติดเชื้อตามลำดับ กล่าวคือ ในภาวะสมดุลนั้น จะมีหยินและหยางอยู่เท่ากัน มนุษย์จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความเจ็บป่วย หากเกิดการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล มีความผันแปรมากจนร่างกายปรับตัวไม่ได้จึงเกิดความเจ็บป่วยตามมา หรือหยินและหยางในร่างกายไม่สมดุล ร่างกายจึงอ่อนแอและเจ็บป่วยจากความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ความสมดุลของหยินและหยางในธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของหยินและหยางในร่างกาย เมื่อความสมดุลภายในร่างกายเสียไป ทำให้การไหลเวียนของพลังงานหรือลมปราณซึ่งเรียกว่าชี่เกิดการขัดข้อง จึงเกิดความเจ็บป่วยตามมา การฝังเข็มจะช่วยให้การไหลเวียนของชี่ดีขึ้นและปรับสมดุลของหยินและหยางให้เป็นปกติ

 

การวินิจฉัยโรคและการรักษาด้วยการฝังเข็ม

          ตามหลักการแพทย์จีน พลังงานชี่จะไหลเวียนในร่างกายตามเส้นลมปราณ หรือที่เรียกตามภาษาสากลว่า     “เมอริเดียน” มีทั้งหมด 14 เมอริเดียนในร่างกาย (รูปที่ 1) การวินิจฉัยโรคตามหลักการแพทย์จีนจะวิเคราะห์ดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะใด เกี่ยวข้องกับเมอริเดียนใด แล้วให้การฝังเข็มที่จุดตามแนวเมอริเดียนนั้นๆ

 


                                                                 

 รูปที่1:แสดงเส้นลมปราณหรือเมอริเดียนในร่างกาย

 

 การฝังเข็มในปัจจุบันใช้เข็มที่ทำจากแสตนเลสชนิดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่จึงปลอดภัยจากการติดเชื้อ ไม่มียาเคลือบอยู่ที่เข็มจึงไม่ต้องเสี่ยงกับการแพ้ยา เข็มมีความยาวหลายขนาด ที่นิยมใช้มีความยาวประมาณ 1-3 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางของเข็มฝังเข็มเท่ากับ 0.25 มิลลิเมตร ซึ่งเล็กกว่าเข็มฉีดยาประมาณครึ่งหนึ่ง เวลาปักเข็มจึงเจ็บน้อยกว่าการถูกฉีดยา

 

            การฝังเข็มไม่ใช่การฝังตัวเข็มไว้ใต้ผิวหนังเป็นเวลานานๆดังเช่นที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการปักเข็มตามจุดฝังเข็มแล้วคาเข็มไว้อย่างน้อย 20 นาทีแล้วเอาออก (รูปที่ 2 ก) เมื่อปักเข็มแพทย์จะต้องกระตุ้นเข็มให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกจากเข็มในบริเวณที่ปักเพื่อให้การรักษาได้ผลดี การกระตุ้นเข็มนี้อาจกระตุ้นด้วยมือเป็นระยะๆในช่วงที่ปักเข็ม หรือมีการใช้ไฟฟ้ามากระตุ้นก็ได้ (ดังรูปที่ 2 ข)

                                     

                                                                                                                                                                 

รูปที่  2  :  ก. การฝังเข็มตามจุดฝังเข็ม      

 

                                                            

   รูปที่  3:  ข. การฝังเข็มและการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า

 

             ความรู้สึกจากเข็มนี้จะเป็นความรู้สึกหน่วงๆหนักๆที่ปลายเข็ม อาจมีกล้ามเนื้อกระตุก  ปวดแปลบแปลบคล้ายไฟช็อตเกิดขึ้นได้ขณะกระตุ้น ความรู้สึกเหล่านี้จะคงอยู่แม้ว่าจะถอนเข็มออกไปแล้วอย่างน้อย 4 ชั่วโมง จึงค่อยๆน้อยลงจนหายไปภายในเวลา 1-2 วัน เมื่อความรู้สึกเหล่านี้หายไป จะรู้สึกได้ถึงอาการปวดที่บรรเทาลงจากการฝังเข็ม การฝังเข็มจะไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงที่รุนแรงหากทำโดยผู้ที่มีความชำนาญและผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี อาจมีอาการเจ็บเกิดขึ้นขณะฝังเข็ม หรือมีเลือดออกเป็นจุดเล็กๆภายหลังถอนเข็มแล้วได้ ก่อนฝังเข็มควรนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และไม่มีไข้ เนื่องจากการฝังเข็มเป็นการปรับสมดุลในร่างกาย หากร่างกายแข็งแรงการปรับสมดุลให้หายจากอาการที่เป็นจะเกิดขึ้นได้โดยใช้เวลาไม่นาน 

 

โรคข้อเข่าเสื่อมกับการฝังเข็ม

            ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจำนวนมากจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวด ทำให้การเดินและการช่วยเหลือตนเองทำได้ลดลง ตามหลักการแพทย์จีนอาการปวดจากข้อเสื่อมเกิดจากการอุดกั้นของพลังงานชี่ เมื่อมีการอุดกั้นจึงเกิดการคั่งและปวดตามมา จากการวิจัยของการแพทย์แผนปัจจุบันพบว่าการฝังเข็มช่วยลดอาการปวดเข่าได้ เพราะการฝังเข็มจะไปกระตุ้นเส้นประสาทขนาดใหญ่ให้เกิดกลไกการลดอาการปวด และกระตุ้นสารเคมีจากระบบประสาทส่วนกลางที่ช่วยลดอาการปวดและอาการอักเสบด้วย

 

จุดฝังเข็มในโรคข้อเข่าเสื่อม

            จุดฝังเข็มที่ใช้ในโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นประกอบด้วยจุดหลัก และจุดเสริม โดยทั่วไปจุดหลักที่ใช้จะใกล้เคียงกันคือเป็นจุดฝังเข็มที่อยู่บริเวณเข่า ส่วนจุดเสริมอาจมีความแตกต่างกันได้ในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับการวินิจฉัยโรคตามหลักการแพทย์จีน จุดเสริมที่ใช้มักไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีปัญหาแต่จะอยู่ตามแขนหรือขาที่ไกลออกไป

 

คอร์สการฝังเข็ม

            การรักษาด้วยฝังเข็มจะทำเป็นคอร์ส ซึ่งประกอบด้วยการรักษาจำนวน 8-10 ครั้ง โดยทำ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อครบ 1 คอร์ส อาจให้การรักษาต่อเนื่อง หรือหยุดพักระหว่างคอร์ส การตอบสนองต่อการฝังเข็มในแต่ละรายจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับระยะเวลาที่เป็นโรค ความรุนแรงของโรค โครงสร้างของกล้ามเนื้อและข้อเข่า น้ำหนักตัว และโรคร่วมที่เป็นอยู่ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม ความถี่ และระยะเวลาของการรักษา

 

สรุป

         การฝังเข็มเป็นการรักษาเสริมที่ช่วยให้ข้อเข่าที่เสื่อมหายจากอาการปวด ซึ่งต้องทำควบคู่กับการรักษาเสริมอื่นๆด้วย เช่น การลดน้ำหนัก ใช้ข้อเข่าอย่างถูกต้อง ออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เป็นต้น การกระทำเหล่านี้ล้วนมุ่งเน้นให้ผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวดหรือพึ่งยาแก้ปวดในปริมาณที่น้อยที่สุด 

 

 

ปิยะภัทร เดชพระธรรม

ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล